พิมพ์เขียวอุดมศึกษา นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาแห่งอนาคต โดย : ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจากนี้ไปการอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยไทยจะสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม อันเนื่องมาจากความพยายามของผู้บริหารมหาวิทยาลัยภาครัฐ (บางกลุ่ม) ที่จะนำมหาวิทยาลัยออกจากกระทรวงศึกษาธิการและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดนี้ในการที่จะยกระดับและพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกลสู่ 4.0

การที่สถาบันอุดมศึกษาไปสังกัดกระทรวงใหม่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโจทย์หรือความท้าทายของชาวมหาวิทยาลัยทั้งมวลในการที่จะให้คำตอบแก่ตนเองและสังคมถึงความใหม่และความแตกต่างในห้วงเวลาที่อยู่ในร่มชายคากระทรวงศึกษาธิการ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การอุดมศึกษาไปควบรวมกับงานวิจัยและนวัตกรรมได้สะท้อนมุมมองให้เห็นถึงสาระสำคัญผ่านบทความเรื่อง “การปรับเปลี่ยนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเผยแพร่ผ่านมติชนรายวัน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ความตอนหนึ่งว่า “กระทรวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นกระทรวงที่ว่าด้วยอนาคตของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและนวัตกรรม และเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยได้ออกแบบโครงสร้างเชิงอำนาจแต่เป็นโครงสร้างการทำงานแบบเสริมพลังหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการอุดมศึกษาให้ใช้ทรัพยากรทุกส่วนเพื่อตอบโจทย์ประเทศแบบมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 กระทรวงใหม่จึงเป็นความจำเป็นของประเทศไทยในในวันนี้เพราะประเทศที่มีความก้าวหน้าต่างมีการจัดการระบบการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมให้มีขีดความสามารถเป็นหลัก” (มติชน, 28 มิถุนายน 2561 หน้า 15)

อย่างไรก็ตามเมื่อสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศในวันนี้จะได้ไปสังกัดในกระทรวงใหม่ซึ่งเป็นกระทรวงที่ผู้ออกแบบพิมพ์เขียวได้มองไกลไปถึงการตอบโจทย์เพื่อการพัฒนาประเทศแห่งอนาคตก็ทำให้ต้องกลับมาสะท้อนถึงชาวอุดมศึกษาว่าวันนี้มหาวิทยาลัยพร้อมหรือยังกับการก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานาดังที่ปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่จะขับเคลื่อนเพื่อนำอดีตไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่าแห่งอนาคตย่อมเป็นที่มุ่งหวังและต้องการของสังคม เฉกเช่นการนำการอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยไปสังกัดกระทรวงใหม่จึงเป็นโจทย์หรือการบ้านที่สำคัญในการที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยภายใต้พิมพ์เขียวใหม่กับพิมพ์เขียวเดิมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การยกระดับพัฒนาคน พัฒนาชาติ ตลอดจนยังเป็นที่คาดหวังหรือนำไปสู่มิติแห่งความศรัทธาจากสังคมได้มากน้อยแค่ไหน

ปัญหาหรือหลุมดำที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการที่ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักจนเกิดเป็นกระแสของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาภิบาล การบริหารงานบุคคลหรือการทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไปหรือไม่เป็นอีกหนึ่งของโจทย์หรือคำถามที่สังคมอุดมปัญญาจะต้องหาคำตอบให้กับสังคม

การตอบโจทย์เพื่อนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของสังคมที่การอุดมศึกษาต้องไปสู่องค์กรใหม่สอดคล้องกับการที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ที่ผ่านประสบการณ์ในหลากหลายตำแหน่งสำหรับงานอุดมศึกษากล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายเรื่องความก้าวหน้าของการจัดตั้งกระทรวงใหม่ในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้างอำนาจหน้าที่และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต ครั้งที่ 3 ความตอนหนึ่งว่า “กระทรวงการอุดม
ศึกษาฯจะต้องเป็นกระทรวงใหม่ที่มีพลวัตสูงมองไปข้างหน้าเป็นหน่วยงานกำหนดแนวทางการผลิตกำลังคนโดยดูว่าอาชีพใดที่กำลังจะหายไปและอะไรที่จะเป็นอาชีพใหม่เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนเข้าสู่อาชีพใหม่ และมหาวิทยาลัยต้องปิดหลักสูตรเก่าที่ไม่ตอบสนองตลาดแรงงาน ทั้งนี้อยากให้ สกอ.ช่วยกำหนดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงให้การทำงานมีความคล่องตัว ทั้งคำนึงถึงแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี พ.ศ.2560-2579”

แผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปีจึงเป็นพิมพ์เขียวที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนหรือเป็นช่องทางเพื่อนำนวัตกรรมแห่งการพัฒนาไปสู่การยกระดับการอุดมศึกษาหรือการตอบโจทย์สำหรับก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งหวังทั้งนี้เพราะแผนดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญที่ผู้ออกแบบโครงสร้างหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยพึงสังวรณ์และนำไปสู่การปฏิบัติ

การก่อเกิดพิมพ์เขียวหรือแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปีสืบเนื่องมาจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาในมิติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และผสมผสานกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีที่มุ่งเน้นความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และที่สำคัญแผนอุดมศึกษา 15 ปี ฉบับที่ 2 ไม่สามารถปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงได้การจัดทำแผนเพื่อให้ตอบโจทย์แห่งการพัฒนาจึงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามวันนี้หากจะให้การอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงใหม่จะตอบโจทย์หรือยกระดับการพัฒนาไปสู่ทิศทางอนาคตโดยเฉพาะการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริงนั้น คำถามที่ตามมาคือทำอย่างไรที่จะให้สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยได้เข้าใจในแก่นแท้ของบริบทแห่งแผนอุดมศึกษาที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะแผนไม่ใช่เป็นเพียงหนึ่งหรือหุ้นส่วนในมิติแห่งการยกระดับและการพัฒนาเท่านั้นแต่แผนยังนำไปสู่สิ่งที่สังคมจะได้รับหรือคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงผลผลิตจากทุกพันธกิจอุดมศึกษาที่มีคุณภาพของทุกภาคส่วน ตามด้วยทุนทางสังคมที่ส่งผลให้เกิดผู้นำทางความคิดเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับพันธกิจของชาวอุดมศึกษาคือการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่จะเสนอทางเลือกและตอบโจทย์สังคมเพื่อการพัฒนาประเทศในบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อประเทศชาติแห่งอนาคตถ้าชาวอุดมศึกษาทุกภาคส่วน ต่าง มุ่งมั่น และทุ่มเทอย่างจริงจังและจริงใจ เชื่อได้ว่าพิมพ์เขียวอุดมศึกษาจะเป็นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและความหวังแห่งอนาคตในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image