มองเป้าหมายการศึกษา แต่ละระดับของ สิงคโปร์

เพื่อนชาวยุโรปถามผู้เขียนว่า ทำไมคุณจึงส่งลูกมาเรียนที่ยุโรปทำไมไม่ส่งลูกไปเรียนที่สิงคโปร์ การศึกษาที่สิงคโปร์ดีที่สุดในโลกนะใกล้บ้านคุณด้วย ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงมากเท่ายุโรป ผู้เขียนไม่รู้ว่าได้ตอบไรเพราะว่า ผู้เขียนส่งลูกไปเรียนเยอรมนีได้ในฐานะเด็กแลกเปลี่ยนค่าใช้จ่ายไม่มาก มีครอบครัวอุปถัมภ์ให้อุปการะ ส่วนที่ประเทศไทยครอบครัวเราก็ทำหน้าที่อุปการะลูกจากครอบครัวเขาเป็นการต่างตอบแทนกัน นี้คือสายตาฝรั่งที่ตระหนักรู้ว่าสิงคโปร์การศึกษาของเขาสร้างคนได้ดีจริงๆ

ผลสอบ PISA ของสิงคโปร์ที่ผ่านมาหลายครั้งบอกว่า คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับ Top ten ของโลก หากฟังดูแค่นี้ก็คงแค่รับรู้ แต่ไม่ทราบว่าเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไรเด็กเขาเรียนเก่งเองหรือระบบการจัดการศึกษาของเขาดี มีสิ่งดีใดๆ ที่เราจะเอามาเป็นต้นแบบได้หรือไม่

มีนักการศึกษาไทยเคยไปศึกษาดูงานจากประเทศนี้มาแล้วมากมาย ทั้งประเภทไปฉาบฉวยและเจาะลึก แบบพร้อมที่จะนำเอารูปแบบมาใช้ปฏิรูปการศึกษาได้ แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “Teach less Learn more” หรือ Learning Nation, หรือ Thinking School หลายท่านที่ได้เคยไปศึกษาดูงานมาแล้วก็เหมือนดูหนังดูละครคือกลับมาปลาบปลื้มอยู่แต่ตัวคนเดียวไม่สามารถทำได้อย่างที่ได้ไปดูเขามา ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสก็ได้แต่รับฟังแล้วมีแต่ความมึนงง ไม่เข้าใจว่าที่เขาว่าดีๆ นั้นดีอย่างไร

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกเพื่อนบ้านที่ไปเรียนหนังสืออยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลาถึงสิบปี ตั้งแต่ชั้นมัธยมจนจบชั้นมหาวิทยาลัยและตนเองก็ได้เคยไปดูงานการศึกษาที่นั้นหลายครั้งก็ได้ข้อสรุปว่า สิงคโปร์จัดการศึกษาได้บรรลุเป้าหมายตามเป้าวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในทุกระดับอย่างแท้จริง ดังนี้

Advertisement

ครอบครัวสิงคโปร์เป็นครอบครัวที่มาจากหลายเชื้อชาติ คนจีน 77% มาเลย์ 14% อินเดีย 7.6% อื่นๆ 1.4% หลากหลายวัฒนธรรม คนกลุ่มแรกๆ ที่รวมตัวกันเป็นสิงคโปร์ นอกนั้นเป็นกลุ่มคนนานาชาติที่เข้ามาทำธุรกิจลงทุนในสิงคโปร์ในตอนหลังๆ

ปัญหาใหญ่ของประเทศนี้ก็คือ ทำอย่างไรจะทำให้คนจากทุกเชื้อชาติในสิงคโปร์รวมกันเป็นคนสิงคโปร์อย่างแท้จริง คำตอบสุดท้ายอยู่ที่การศึกษาปฐมวัย

เป้าหมายของการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย อายุ 3-6 ขวบ จึงเพื่อให้เด็กที่มาจากทุกเชื้อชาติได้มีความรู้สึกเป็นคนสิงคโปร์พวกเดียวกัน วัยเด็กเล็กมีความบริสุทธิ์ เข้ากันได้ง่าย คบกันได้เร็ว ไม่มีอคติ ไม่มีความแปลกแยก มีความกล้าที่จะคบหากัน โกรธไม่นาน ไม่มีความโกรธที่จำฝังใจพร้อมที่จะหลอมรวมเป็นพวกเดียวกันได้อย่างรวดเร็วและแนบแน่น

เป้าประสงค์ของการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยมีความชัดเจนคือ มุ่งจัดหลักสูตรที่เน้นกิจกรรม ให้เด็กที่มาจากหลายเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมได้มาเล่นด้วยกันได้พูดคุยได้สื่อสารสนทนาวิสาสะ ได้เล่นเกมได้เล่นของเล่นแบบสร้างสรรค์ ได้ออกกำลังกายร่วมกัน ได้ฝึกปฏิบัติความมีระเบียบมีวินัยในตนเองเบื้องต้น

วิชาที่เรียนในระดับปฐมวัยไม่เน้นวิชาการแต่ให้เริ่มเรียนภาษาของบรรพบุรุษตนเอง เด็กมาเลย์ก็ให้เรียนภาษามาเลย์ เด็กอินเดียก็ให้เรียนภาษาทมิฬ เด็กจีนก็ให้เรียนภาษาจีน และเด็กทุกคนต้องให้เรียนภาษาอังกฤษ ส่วนการวัดผลในระดับปฐมวัยไม่เน้น แต่มีสอบทุกเทอม ปีละ 4 ครั้ง

การศึกษาระดับ ป.1-ป.4 ในชั้น ป.1-ป.3 ให้เรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามาเลย์ ภาษาอินเดีย ให้เข้มขึ้น และเรียนเพิ่มวิชาพลศึกษา เป้าหมายคือให้อ่านออก ให้เขียนได้ ให้คิดเลขเป็น ในชั้น ป.4 ให้เรียนวิชาสังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ทำ Lab แบบง่ายๆ เช่น เอาเกลือผสมน้ำ โดยให้เด็กได้เข้าใจหลักการทดลองเบื้องต้น

ชั้น ป.5-ป.6 เรียนเพิ่มวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การทดลองในห้อง Lab ง่ายๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจหลักการทดลองเบื้องต้น เด็กทุกคนยังต้องเรียนภาษาของพ่อแม่ของตนเอง คือ ภาษาอินเดีย ภาษาจีน ภาษามาเลย์และทุกคนต้องเรียนภาษาอังกฤษ เป้าหมายการเรียนในช่วงนี้คือเด็กต้องเรียนหนักขึ้นเพื่อเตรียมตัวสอบ PSLE (Primary School Leaving Exam) เด็กในระดับนี้มีความเข้าใจความเป็นไปของสังคมรอบตัวมากขึ้นเป้าหมายของการเรียนในระดับนี้คือสอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ และมีระเบียบวินัยเข้าใจสังคม ดังนั้น เด็กต้องมีพื้นฐาน อ่านคล่อง เขียนคล่องและคิดเลขเป็นมีความใฝ่ฝันรู้จักตัวเอง

ความรู้พื้นฐานจะเป็นฐานให้เด็กได้เตรียมตัวสอบจบชั้น ป.6 ซึ่งเป็นชั้นที่จะต้องใช้ข้อสอบกลางของประเทศอังกฤษ PSLE ข้อสอบนี้จะใช้สอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศ วิชาที่สอบจะมี 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาถิ่น (ของตนเอง)

ผลการสอบไล่ชั้น ป.6 (Grade 6) จะติดประกาศให้ทราบเพื่อให้เด็กผู้ปกครองรู้ว่าเด็กจะได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใด ซึ่งจะมีโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เด็กได้เลือกไว้จำนวน 7 โรงเรียนก่อนสอบ ว่าจะไปเรียนต่อมัธยมศึกษาที่ใด

โรงเรียนมัธยมศึกษาในสิงคโปร์มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.Special School เวลาเรียน 3 ปีครึ่ง 2.Express School เวลาเรียน 4 ปี และ 3.Normal School เวลาเรียน 5 ปี

เป้าหมายของการเรียนในระดับมัธยมศึกษาชัดเจนมากคือ เด็กได้รู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านใด โรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้ค้นพบตนเอง ได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางสายอาชีพ (Career path) เมื่อเด็กที่สอบผ่าน PSLE แล้วจะไปเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนใด เด็กต้องระบุชื่อโรงเรียนที่ต้องการจะไปเรียนต่อไว้ก่อนจบชั้น ป.6 ระบุไว้จำนวน 7 โรงเรียน ซึ่งผลคะแนนที่สอบจะบอกว่าจะได้เรียนในโรงเรียนอะไร ดังนั้น ผลคะแนนชั้น PSLE ชั้น ป.6 จึงมีความสำคัญมาก

เมื่อเรียนจบหลักสูตรมัธยมศึกษาแล้ว เด็กทุกคนต้องสอบข้อสอบ O-Leven ซึ่งมีทั้งหมด 7 วิชา แต่ให้เลือกสอบได้ 5 วิชา และทุกคนยังต้องสอบวิชาภาษาอังกฤษอีก 1 วิชา ผลของคะแนนสอบที่ได้จะมีความหมายมากเช่นกัน เด็กที่สอบ O-Leven ได้คะแนนสูง จะนำไปสมัครเข้าเรียนใน College หลักสูตร 2 ปี (เหมือน Pre University) แล้วไปต่อมหาวิทยาลัยได้เลย ส่วนคนที่ได้คะแนนต่ำลงมา จะนำผลคะแนนที่ได้ ไปสมัครเรียนที่ Express School หลักสูตร 4 ปี และไปเรียน Normal School หลักสูตร 5 ปี

เป้าหมายการเรียนระดับมัธยมศึกษาของสิงคโปร์ ชัดเจนตั้งแต่เด็กผ่านการคัดเลือกเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาแล้ว เด็กรู้ว่าตนเองจะไปประกอบอาชีพในเส้นทางใด แต่ละคนจึงสามารถตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองได้ตั้งแต่เรียนในระดับมัธยมศึกษา

ปกติปีการศึกษาหนึ่งจะมีอยู่ 4 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 3 เดือน ภาคฤดูร้อนเรียนเดือนครึ่ง การสอบวัดผลจะไม่มีการสอบเก็บคะแนนระหว่างเรียน แต่จะมีการสอบปลายเทอม (Final Test) เพียงครั้งเดียว

เด็กมัธยมศึกษา อายุ 15 ปี จะทำงาน Part Time ในช่วงปิดเทอมได้ ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 150 บาท ส่วนเด็กอายุ 16 ปี สามารถทำงาน Full Time ได้ ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 200 บาท เด็กจะไปทำงาน Part Time จำนวนมากในช่วงจบชั้น ม.4 สามารถเก็บเงินซื้อของที่ตนเองต้องการโดยไม่รบกวนผู้ปกครองได้แล้ว

การศึกษาในระดับอุดมศึกษา สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่เพียง 4 แห่ง แต่มีมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ในระดับโลกมาเปิดสาขาอยู่ในสิงคโปร์มากกว่า 20 ประเทศ และมีมหาวิทยาลัยเอกชน อุดมศึกษาจึงมีคุณภาพสูงระดับโลก คนสิงคโปร์จะมีความขยันแบบคนจีนที่มีความคิดแบบฝรั่ง
อาชีพยอดนิยมที่สุดของสิงคโปร์คือ นักการธนาคาร การเงิน การตลาด เศรษฐศาสตร์ การบัญชี เพราะสิงคโปร์เป็นทั้งศูนย์การเงินและศูนย์การค้าของโลก ส่วนอาชีพหมอและวิศวกรนั้น ความนิยมไม่มาก การสอบแข่งขันไม่สูง

หันหลังกลับมาดูการศึกษาไทย เรามีเป้าหมายการจัดการศึกษาไว้ทุกระดับเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกันกับสิงคโปร์ เป้าหมายตั้งไว้แบบลอยๆ ตามประเพณีเท่านั้น คนจัดหลักสูตรและครูผู้สอนก็สอบไปตามประเพณี ไม่ตระหนักว่าแต่ละระดับแต่ละช่วงวัยของหลักสูตรมีเป้าหมายอย่างไร การจัดการสอน
ต่างกันอย่างไร เด็กอนุบาลกับเด็กประถมศึกษามีพัฒนาการที่ต่างกัน กิจกรรมการเรียนรู้ต้องต่างกัน

พัฒนาการเด็ก ป.5-ป.6 เป็นชั้นตัวประโยค มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นพี่ ต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กเล็ก การจัดการศึกษาจึงแบ่งเป็นประถมตอนต้นและประถมตอนปลาย สมัยก่อนไม่มีการศึกษาภาคบังคับถึงอายุ 15 ปี เด็กจบ ป.6 อายุ 12-13 ปี จบออกไปสามารถช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพได้แล้ว มีบางคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถไปเรียนต่อยอดความรู้ด้วยตนเอง จนมีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงก็มีมาก

เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กทั้งสองวัยนี้มีความเป็นผู้ใหญ่ต่างกัน พัฒนาการของเด็กก็ต่างกัน การจัดการศึกษาให้เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจึงต้องมีเป้าหมายและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกัน

ในอเมริกา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเขาเรียกชื่อว่า Middle School ส่วนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเขาเรียกว่า Secondary School เมื่อปี 2539 ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในทางตอนเหนือของรัฐ New York ได้ไปเห็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในรัฐนี้ (จำชื่อไม่ได้) มีนักเรียนมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายประมาณ 1,100 คน มีครูประมาณ 60 คน แต่มีครูใหญ่ 2 คน คนหนึ่งเป็นครูใหญ่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นครูใหญ่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่มีผู้ช่วยครูใหญ่คนเดียวพร้อมทีมเลขาฯ 5 คน ดูแลครูใหญ่ทั้ง 2 คน ภาพครูใหญ่ทั้งสองท่านที่ได้ไปเห็นมาในปีนั้นยังฝังใจอยู่ว่าเขาให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแตกต่างกัน

เมืองไทย ความสำคัญของการศึกษาในระดับมัธยมศึกษามันไหลไปอยู่ที่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นจึงถูกละเลย ไร้เป้าหมาย ไร้ทิศทาง ไม่ได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางอาชีพ พอขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็สายเสียแล้ว หาเส้นทางสายอาชีพ (Career Path) ของตนเองไม่เจอ เพราะเป้าหมายการศึกษาที่เขียนไว้ในหลักสูตรไม่มีใครคิดถึง เด็กไทยจึงตกงานมากมาย

 

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image