‘อดีตสนช.’ ระบุหากไม่แก้กลุ่มทุนผูกขาดศก.ไทยจะเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายภาคประชาชน จัดงานเสวนาเรื่อง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจกับการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม” โดยมีนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) และอดีตวุฒิสภา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายประพันธุ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมงานเสวนา
นายประพันธุ์กล่าวว่า การเผชิญหน้ากับการผูกขาดอำนาจของประเทศไทย ไม่ใช่แค่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองเท่านั้น แต่ความร้ายแรงยิ่งกว่าคือการเผชิญหน้ากับการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งถ้าว่าตามความเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจจะต้องเป็นทุนนิยมเสรี มีความเป็นธรรม มีกฎกติกาที่ส่งเสริมการผลิตในประเทศให้คนได้เข้าถึงแหล่งทุน โอกาสทางธุรกิจ การศึกษาและในด้านอื่นๆ ซึ่งการไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจจะเป็นการปิดกั้น ทำให้กลุ่มทุนเดิมต่อยอดอำนาจตัวเอง และยึดครองสมบัติประชาชาติด้วย โดยรายได้ของประเทศกว่า 70-80% มาจากกลุ่มทุนใหญ่ และนอกจากการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว ทุนนิยมขุนนางที่เกิดจากการให้สัมปทานกับเอกชน ทำลายระบอบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้อาจจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับ 3 จากกร่วมมือของทุนขุนนาง ทุนผูกขาดขนาดใหญ่และทุนต่างชาติที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ร่วมมือกัน” นายประพันธ์กล่าว
นายสาวิทย์กล่าวว่า กลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือ แต่ประชาชนถูกมอมเมาว่ารัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นจะต้องดูว่ารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีบริษัทระดับหลานขึ้นไปกี่แห่ง ทรัพย์สินส่วนมากของรัฐวิสากิจสุดท้ายตกอยู่ในมือเอกชน นอกจากนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจคท์) ก็เอื้อให้เอกชนต่างประเทศ จึงเป็นประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่าการแข่งขันเป็นธรรมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะถูกผูกขาดจากกลุ่มทุ่นขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม
นายธีระชัยกล่าวว่า การแข่งขันทางค้าของเอกชนแต่ละรายเป็นการแข่งขันที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อถึงจุดหนึ่งความสามารถการแข่งขันของรายใหญ่และรายเล็กจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มีผลกีดกันโดยอัตโนมัติและเกิดจากการผูกขาดตลาดที่ใหญ่เกินไป โดยภายหลังที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้าสะท้อนว่าได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยกระบวนการบังคับให้กฎหมายมีความเป็นธรรมกฎกติกาต้องชัดเจน มีการสำรวจตรวจสอบและตัดสิน
นายคำนูณกล่าวว่า อยากให้จับตาดูร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ยังค้างอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการปรับแก้นิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจในกฎหมายเดิมปี พ.ศ. 2502 ที่บัญญัติคำนิยามรัฐวิสาหกิจไว้ 4 ชั้น คือ บริษัทแม่ ลูก หลาน เหลน แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีการแก้จนเหลือแค่แม่ และลูกเท่านั้น ซี่งจะทำให้บริษัทชั้นหลานและเหลนไม่ถูกตรวจสอบจากองค์กรต่างๆ โดยตอนนี้มีร่างกฎหมายที่เรียกกันว่าร่างกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้งที่กำลังทำการพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสนช. โดยเนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายเป็นร่างพ.ร.บ.การพัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐ ในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ขัดมาตรา 75 ที่กล่าวไว้ว่ารัฐต้องจัดระบบเศรษฐกิจที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับประชาชน ให้สามารถเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง ลดความผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐไม่สามารถประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่จะทำเพื่อรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงส่วนร่วมเท่านั้น
นายพิชายกล่าวว่า ประเทศที่สามารถพัฒนาไปได้และทำให้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ หลุดพ้นได้ มีเงื่อนไขอยู่ 2 ข้อ คือ มีสถาบันทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย และสถาบันทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ถ้าประเทศใดมีเงื่อนไข 2 ข้อนี้ จะทำให้ประเทศนั้นพัฒนาไปได้โดยมีความเหลื่อมล้ำน้อยหรืออาจจะไม่มีความเหลื่อมล้ำ และสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการกระจายรายได้ต่อคนในสังคมทั้งหมด โดยเงื่อนไขที่สำคัญคือเมื่อสถาบันทางเศรษฐกิจปิดกั้นจะเกิดลักษณะการผูกขาดขึ้นมา ทั้งการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ โดยนำเงินทุนรัฐไปสร้างความเสี่ยงและความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนภายในประเทศ ที่จะประกอบการต่างๆ ทำธุรกิจลดลง ทำให้ประชาชนมีรายได้ต่ำ การจ้างงานต่ำ ส่งผลสถานะทางสังคมก็ตกต่ำลงไปด้วย และเมื่อไม่มีการเลื่อนชนชั้นทางสังคม ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่สถาบันทางการเมืองได้ โดยเฉพาะการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีเงื่อนไขต้องมีชนชั้นกลางจำนวนมากในสังคม
นายกษิตกล่าวว่า การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างปัจจุบันที่ภายในร้านสะดวกซื้อมีให้บริการแทบทุกอย่าง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการไป เพราะไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ จึงทำให้รายได้ไม่ถูกกระจายออกไปยังประชาชนทุกคน แต่กระจุกอยู่ในผู้ประกอบการรายใหญ่แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image