พณ. ชี้ผลสำรวจเทรดวอร์ต่อสินค้าเกษตร ไทยมีโอกาสเพิ่มค้าไปสหรัฐ-จีน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้า สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตร รวมทั้งสินค้ากากเหลือจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยหลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมกับทุกประเทศ ทำให้ประเทศคู่ค้าออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ และหลายประเทศมีการขึ้นภาษีสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสินค้าที่อ่อนไหวของสหรัฐฯ

จีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ หลายรายการ ในอัตราร้อยละ 25 เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและเมสลิน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดซอร์กัม แป้งข้าวโพด แป้งธัญพืช ถั่ว (เช่น อัลมอนด์ พิตาชิโอ มะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย และวอลนัท) ผักและผลไม้ (เช่น ส้ม/แมนดาริน เชอรี่ องุ่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ สตรอเบอรี่ พรุน มะม่วง มะพร้าว สับปะรด ฝรั่ง แตงโม มะนาว แครอท กะหล่ำ บร็อคโคลี่ ฟักทอง ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด หอมหัวใหญ่ และกระเทียม) และกากเหลือจากการผลิตสตาร์ช อียูขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อัตราร้อยละ 25 ในสินค้าข้าว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วแดง ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าข้าว และถั่วประเภทต่างๆ จากสหรัฐฯ อัตราร้อยละ 20 และ 5 ตามลำดับ แคนาดาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากาแฟคั่วจากสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค. ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อดูผลกระทบต่อไทย พบว่า สินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ เช่น กากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ข้าว ผลไม้สดและแห้ง โดยเฉพาะพวกส้ม และพบว่าสินค้ากากเหลือจากการผลิตสตาร์ช เศษที่ได้จากการต้มกลั่น (พิกัดศุลกากร 230330) เป็นสินค้าที่มีโอกาสทำตลาดมากที่สุดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าเป็นมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยมีการส่งออกประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปลาวเกือบทั้งหมด ดังนั้น ไทยน่าจะสามารถกระจายสินค้าไปตลาดจีนมากขึ้นได้

นอกจากนี้ การที่จีนขึ้นภาษีผลไม้ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ (ผลไม้ที่จีนมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มาก เช่น เชอรี่ ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล และพลัม) ทำให้ผลไม้จากสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคจีนอาจหันมาเลือกบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทยที่จะส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น

Advertisement

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับสินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพดหวาน เนื่องจากข้าวโพดหวานเป็นสินค้าที่อียูขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปี 2560 อียูนำเข้าข้าวโพดหวาน 148 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอียูด้วยกันเอง 136 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง ร้อยละ 95 โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ และไทยเพียง 234,000 และ 84,000 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ไทยมีการส่งออกไปโลกเป็นมูลค่าประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยจึงมีศักยภาพในการส่งออกไปอียูได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศในกลุ่มอียูด้วย

นางสาวพิมพ์ชนก  กล่าวว่า สำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ ที่อาจไหลเข้าไทย มีสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและเมสลิน แอปเปิ้ล และลูกแพร์ โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การขึ้นภาษีของจีนอาจทำให้สหรัฐฯ ต้องกระจายสินค้าถั่วเหลืองไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น เมื่อจีนลดการนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็คาดว่าจีนจะนำเข้าจากบราซิลเพิ่มขึ้น (ปี 2560 จีนนำเข้าถั่วเหลือง 95 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าจากบราซิล และสหรัฐฯ ในปริมาณ 51 และ 33 ล้านตัน ตามลำดับ) ซึ่งอาจทำให้บราซิลที่เป็นแหล่งนำเข้าถั่วเหลืองอันดับ 1 ของไทย ส่งออกมาไทยได้น้อยลง (ปี 2560 ไทยนำเข้าถั่วเหลือง 2.7 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าจากบราซิล 1.7 ล้านตัน และสหรัฐฯ 9.6 แสนตัน) จึงเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในไทย

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า นอกจากนี้ จีนมีการนำเข้าข้าวสาลีและเมสลินจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าประมาณ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าจากโลกมากกว่า 4 ล้านตัน (นำเข้าจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และแคนาดา ในปริมาณ 1.9 1.6 และ 0.5 ล้านตัน ตามลำดับ) ดังนั้น หากสหรัฐฯ ส่งออกจีนได้น้อยลง สหรัฐฯ ก็จะผลักดันกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่ง สนค. เห็นว่าสหรัฐฯ มีการกระจายตลาดส่งออกที่ดีอยู่แล้ว โดยตลาดส่งออกสินค้าข้าวสาลีและเมสลินที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย และจีน โดย 5 ตลาดหลักรวมกัน มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 9 ของสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ น่าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดหลักก่อน

“ ในภาพรวม สนค. คาดการณ์ว่าสงครามการค้าจะทำให้เกิดการปรับรูปแบบโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ หรือ “Trade Realignment” เกิดการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการค้าในระยะยาว อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและเกษตรกรภายในประเทศ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image