พาณิชย์ ยอมรับสถานการณ์ตุรกี เสี่ยงกระทบส่งออกไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และตุรกี โดยความสัมพันธ์ทางการเมืองของสองประเทศที่ผ่านมาไม่ค่อยราบรื่นนัก เมื่อรวมกับสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกี  50% และ 20% ตามลำดับ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นค่าเงินและเศรษฐกิจตุรกี ทำให้ค่าเงินตุรกีลดลง 45% เมื่อเทียบกับต้นปี และส่งผลให้ภาระการชำระหนี้ของตุรกีจะเพิ่มขึ้น โดยหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนคิดเป็น 70 %ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด หรือมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ52.6 % ของจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการกู้ยืมจากธนาคารของยุโรป โดยเป็นธนาคารสเปนและฝรั่งเศส ประมาณ 8.2 และ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐ ตามลำดับ และเป็นหนี้ต่างประเทศระยะสั้นภาคเอกชน ครบกำหนดชำระหนี้น้อยกว่า 1 ปี 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ความกังวลที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

นอกจานี้ ตุรกีมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการคลัง ที่ 5.5% และ 3.1% ตามลำดับ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานอยู่ในระดับที่สูงถึง 11.1 %และ 11.2% ในปี 2560 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าปี 2561 GDP ตุรกีจะขยายตัว 4.4 % ชะลอลงจาก 7% ในปีก่อนหน้า

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ด้านผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นสถานการณ์จะเพิ่มความไม่แน่นอนในตลาดเงินและตลาดทุนไทย ทำให้ค่าเงินอาจจะอ่อนค่าและตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับลดลงชั่วคราว 

“สำหรับการส่งออกจากไทยไปตุรกี มีความเสี่ยงที่จะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจตุรกีมีแนวโน้มถดถอย และการอ่อนค่าเงินอย่างรุนแรงทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ความต้องการนำเข้าลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยตุรกี จะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกรวมของไทยทั้งปี 2561 ที่ 8% “

Advertisement

นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยวอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากตุรกีลดลง แต่เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวตุรกีในไทยค่อนข้างน้อย จึงไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของไทย ส่วนกรณีที่ตุรกีมีความเป็นไปได้ ที่จะใช้นโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน  ไม่น่าจะส่งผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญต่อไทย เนื่องจากไทยยังมีการลงทุนในตุรกีไม่มากนัก

ทั้งนี้ ประเทศตุรกีเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 33 มีมูลค่าการส่งออก ครึ่งปีแรก อยู่ที่  644.3 ล้านดอลลาร์เหรียญ คิดเป็น 0.51% ของส่งออกรวม และขยายตัว 4.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ประกอบด้วย รถยนต์และส่วนประกอบ  มูลค่าการส่งออก 113.63 หรือ 17.6% ของการส่งออกทั้งหมดไปตุรกี เครื่องปรับอากาศ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และตู้เย็น เป็นต้น

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image