จรดปากกา วิจารณ์ดนตรี ‘บวรพงศ์ ศุภโสภณ’ ความหมาย ความจริง และความงาม

ในโลกที่โซเชียลมีเดียครองเมือง โลกอินเตอร์เน็ตแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่ผู้คนต้องการค้นหา

ด้านหนึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดี แต่อีกด้าน “การอยู่ท่ามกลางความทันสมัยเหล่านั้น ทำให้เราค้นหาความหมายในชีวิตได้จริงเพียงใด?”

ประโยคข้างต้น เป็นทั้งคำถามและคำตอบในตัวเองที่ บวรพงศ์ ศุภโสภณ หรือ ตู่ นักวิจารณ์ดนตรี นักเขียน วิทยากร และนักจัดรายการวิทยุ ชวนให้คิดตาม

บวรพงศ์ เกิดเมื่อ 16 มิ.ย.2508 เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อ-เสทื้อน ศุภโสภณ นักเขียนตำราประวัติศาสตร์ไทยหลายเล่ม ผู้ชื่นชอบดนตรี ทั้งเพลงของ โยฮัน เสตราส์ (Johann Strauss), ดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการ, เพลงของกรมศิลปากร, เพลงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นดนตรีที่ดีที่สุดในเมืองไทยในยุคนั้น

Advertisement

เขาจึงได้ซึมซับความงามทางดนตรีตั้งแต่เด็ก อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “ผู้รู้ดนตรีคลาสสิก” คนหนึ่งของไทย

ช่วงมัธยมที่โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี บวรพงศ์เริ่มเล่นทรัมเป็ต เรียนการเขียนโน้ตสากล รู้จักบันไดเสียง สเกลเสียง รวมถึงประวัติศาสตร์ทางดนตรี จากนั้นสามารถเอ็นทรานซ์เข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เอกดนตรีสากล) ได้สำเร็จ ปัจจุบัน บวรพงศ์ ศุภโสภณ ทำงานอยู่กับ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดรายการดนตรีคลาสสิก ทางสถานีวิทยุ อสมท หลายคลื่น ปัจจุบันจัดรายการ Music Talk (สนทนาภาษาดนตรี) ทางสถานีวิทยุ อสมท FM 100.5 MHZ. ทุกคืนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00-24.00 น. เป็นรายการสัมภาษณ์พูดคุยกับศิลปินและผู้รู้ในแวดวงดนตรีหลากหลายสาขา

ทั้งยังเป็นผู้บรรยายวิชาสังคีตนิยม (Music Appreciation) และการเขียน

Advertisement

งานวิจารณ์ดนตรี (Music Criticism) ให้กับนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน อาทิ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ

บวรพงศ์บอกว่า ไม่อยากตั้งตัวเป็นนักวิจารณ์ เพียงแค่ต้องการรับใช้ดนตรี เติมเต็มช่องว่างของนักดนตรีกับคนฟัง ให้การฟังเพลงคลาสสิกสนุกและได้อรรถรสมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของความสนใจในดนตรีคลาสสิก?

สมัยเป็นเด็กแตรวงในโรงเรียน (ทรัมเป็ต) เมื่อถึงจุดหนึ่งเริ่มเบื่อเพลงร้อง อยากฟังเพลงบรรเลง แต่ช่วงวัยมัธยมนั้นยังไม่เคยรู้จักเพลงคลาสสิกเลย กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทาลัย อาจเรียกว่าเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว พอได้ยินครั้งแรกรู้สึกทึ่งทันที แปลกใจว่ามีดนตรีแบบนี้ในโลกด้วยหรือ ทำไมจึงอลังการ ทำไมยิ่งใหญ่เช่นนั้น

เพลงแรกที่ได้ยินเป็นเพลง Die Moldau ของสเมทาน่า (Bedrich Smetana) และพวกลาโวนิกแดนซ์ (Slavonic Dances) ของแอนโทนีน ดโวฉาก (Antonin Dvorak) เป็นเสียงดนตรีที่น่าตื่นเต้น ซับซ้อนกว่าเพลงร้อง หรือเพลงป๊อปที่เคยได้ยิน

แม้จะเป็นเด็กแตรวงมาก่อน แต่ยุคนั้นการเรียนโน้ตสากลยังเป็นเรื่องประหลาด หาเรียนยากมาก ไม่ค่อยมีใครได้เรียนบรรทัด 5 เส้น ยังขาดแคลนครูดนตรี โน้ตสากลแทบจะเหมือนภาษาต่างดาว ใครอ่านได้จะดูโก้ ถือว่าโชคดีที่ ร.ร.รัตนาธิเบศร์ มีครูสอนสเกล บันไดเสียง ถือว่าได้เรียนเยอะกว่าโรงเรียนอื่น

หลงเสน่ห์วิชาการด้านดนตรี?

ผมไม่อายใครที่ไม่เก่งดนตรีปฏิบัติ แต่พอถึงตรงนี้ทำให้เห็นชัดว่าดนตรีมีหลายอย่าง ไม่ใช่มีนักดนตรีแล้วทุกอย่างจบ แต่ต้องการกระบวนการหลายอย่างเพื่อทำให้มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิกนั้นจะขาดองค์ความรู้ทางวิชาการไม่ได้เลย คิดว่านั่นคือที่ยืนของผม

ชอบที่จะอยู่กับวิชาการด้านดนตรี อาจเรียกว่าหลงเสน่ห์… แกะซิมโฟนี หาซื้อหนังสือเอง เปิดดิกชันนารีเอง กระทั่งพบว่าหนังสือต่างๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ใช่ภาษาไทยเป็นเครื่องมือชั้นดี อยู่กับมันเป็นวันๆ กระทั่งข้ามคืน เหมือนหัวจะระเบิดแต่ก็ไม่ปล่อยจนกว่าจะขบให้แตก บรรยายเรื่องการวิเคราะห์ซิมโฟนี วิเคราะห์คอนแชร์โต ให้คนที่ไม่ได้เรียนดนตรีสามารถฟังเพลงคลาสสิกด้วยความเข้าใจ นั่นแหละคือความสุข

ตอนนี้มีความสุขกับงานนี้มาก แปลความหมายของบราห์ม (Johannes Brahms) เบโธเฟ่น (Ludwig van Beethoven) ให้คนฟังเข้าใจว่าเบโธเฟ่นกำลังไปถึงไหน นั่นคือหน้าที่ผม คิดว่าหาคนทำหน้าที่นี้ยาก หลายคนเย้ยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เราสอนโซนาต้า ฟอร์ม ให้คนไม่เรียนดนตรี ใครเขาจะรู้เรื่อง ก็บอกเขาไปว่าไม่ได้โม้ สอนมาหลายสิบรุ่นแล้ว

คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่เบื้องบนวางไว้ให้ ไม่ต้องเป่าทรัมเป็ตแข่งกับใคร แต่มาทำหน้าที่แปลความหมาย เขียนคำอธิบายเพลงในสูจิบัตร ให้คนอ่านแล้วฟังเพลงสนุก เขียนบทวิจารณ์เพื่อส่งเสริมนักดนตรี

 

กับนักเรียนวิจารณ์ดนตรีที่ออสเตรีย
กับนักเรียนวิจารณ์ดนตรีที่ออสเตรีย

 

เข้ามาเขียนวิจารณ์ดนตรีคลาสสิกได้อย่างไร?

ได้อ่านบทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ วิจารณ์การแสดงของวง USSR State Symphony Orchestra ที่มาแสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมฯ เมื่อเมษายน 2532 มีเยฟเคนี สเวตลานอฟ (Evgeny Svetlanov) เป็นคอนดักเตอร์ อ่านปุ๊บ ขนลุกเลย ว่าการวิจารณ์ดนตรีมันต้องอย่างนี้

การกระทำบางอย่างต้องเห็นโมเดล เห็นรูปแบบก่อนที่เราจะทำอะไร เรียกว่าเลียนแบบก็ได้ จึงไม่ต้องกลัวที่จะเลียนแบบใคร เพราะท้ายที่สุดแล้วคุณไม่มีทางเลียนแบบใครได้ ความเป็นตัวเรามันต้องออกแน่นอน แต่จุดเริ่มต้นต้องมีตัวอย่างที่ดี ซึ่งงานของ อ.เจตนา เป็นแบบอย่างที่ดีมาก

ตอนหลังโชคดีมาก ได้เป็นหนึ่งในคณะทำงานโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.เจตนา เป็นหัวหน้าโครงการ ทำงานร่วมกัน 5-6 ปี ท่านหาบทวิจารณ์จากต่างประเทศมาให้อ่าน ว่าประเทศที่มีวัฒนธรรมเรื่องนี้เขาทำกันอย่างไร ที่สำคัญคือต้องทำสรรนิพนธ์ โดยเลือกบทวิจารณ์ชั้นดีในความคิดของเราเพื่อเป็นตัวอย่างแล้วนำมารวมเล่ม

ชิ้นหนึ่งคือ บทวิจารณ์ เยฮูดี้ เมโนฮิน (Yehudi Menuhin) นักไวโอลิน โดยเซอร์เนวิลล์ คาร์ดุส (Sir John Frederick Neville Cardus)

ใครชอบฟุตบอลแล้วไม่รู้จักเปเล่ ก็เหมือนไม่รู้จักฟุตบอล เช่นเดียวกัน ใครชอบไวโอลินแล้วไม่รู้จักเมโนฮิน ก็เหมือนไม่รู้จักไวโอลิน ถือเป็นนักไวโอลินเบอร์ 1 ของโลกในศตวรรษที่ 20 เซอร์คาร์ดุสใช้ภาษาอังกฤษที่สละสลวยมาก ข้อสำคัญคือผมไม่ใช่นักเรียนนอก เจอภาษาอังกฤษขั้นสูงเช่นนั้น ขนาดเจ้าของภาษาเองยังต้องคิดหลายตลบ ยอมรับว่าอ่านครั้งแรกงงไปหมด แม้จะแปลความหมายได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของบทความ แต่กลับทำให้ขนลุก

เซอร์เนวิลล์ คาร์ดุส กลายเป็นนักวิจารณ์ดนตรีในดวงใจ?

ตอนนี้กำลังเห่อเซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส (Sir John Frederick Neville Cardus) มาก วิ่งหาหนังสือ อย่างเล่มนี้เป็นหนังสือเก่า สั่งซื้อจากเว็บไซต์อเมซอน

ท่านนี้เขาเป็นคนที่ไม่ได้เรียนดนตรี แต่วิจารณ์ดนตรีกระทั่งได้เป็นเซอร์ ศิลปินดนตรีไม่มีใครเกลียดเลยสักคน บทวิจารณ์ของเขา “บวก” มาก มีทั้งที่เขียนในปี ค.ศ.1932-1947-1950 แต่อ่านแล้วยังตื่นเต้น อ่านแล้วได้กลิ่นว่างามเช่นนั้นเลยหรือ ถึงแม้เราจะไม่ได้ไปร่วมในการชมคอนเสิร์ตเดียวกับเขา แต่ก็ได้รับความงาม ได้รับบรรยากาศ ได้รับสิ่งดีๆ จากงานเขียนชิ้นนั้นๆ

อ่านวิจารณ์ของเซอร์คาร์ดุสเหมือนได้อ่านกวี เขาเชื่อมความเป็นภาษา ความเป็นกวี องค์ความรู้ และความรักดนตรีเข้าด้วยกัน เหมือนจูงจิตเราขึ้นไปข้างบน เหมือนเขาก้าวข้ามไปอีกขั้น ตั้งแต่นั้นมาต้องขอบคุณ อ.เจตนา ที่ทำให้ได้เรื่องวิจารณ์มากกับนักเรียนวิจารณ์ดนตรีที่ออสเตรีย

บทวิจารณ์ชิ้นแรก กับจุดหักเหของชีวิตสู่เส้นทางคอลัมนิสต์และจุดเริ่มต้นของดีเจ?

บังเอิญ พ.ศ.2533 ซื้อซีดีมาแผ่นหนึ่งเป็นบันทึกการแข่งขัน Tchaikovsky competition 1990 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย รอบสุดท้ายของคนที่ได้ที่ 1 เปียโนชื่อบอริส เบเรซอฟสกี้ (Boris Berezovsky) นักเปียโนชาวรัสเซีย และคนที่ได้ที่ 1 ไวโอลินเป็น รางวัล the best Tchaikovsky piece player prize ชื่ออากิโกะ สุวาไน (Akiko Suwanai) นักไวโอลินชาวญี่ปุ่น วัย 18 ปี

เป็นการทำลายประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่คนญี่ปุ่นได้รางวัลนี้ ชนะคนรัสเซียและนักดนตรีชาวยุโรปคนอื่นๆ จึงมีการอัดเป็นซีดีออกมา ผมซื้อมา แล้วตื่นเต้นมาก อยากให้คนอื่นรู้เรื่องนี้เลยเขียนออกมาอย่างที่อยากเขียน เขียนด้วยลายมือ เสร็จแล้วใส่ซองสีน้ำตาลก่อนเดินทางไปกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ถนนราชดำเนิน

ตอนนั้นไม่รู้จักใครเลย ถามเขาว่าหน้าบันเทิงอยู่ตรงไหน ก็ขึ้นไปเห็นเขากำลังทำงานกันอยู่ ไปถึงแล้วบอกกับเขาว่ามีบทความชิ้นหนึ่ง อยากให้ บรรณาธิการลองพิจารณา จากนั้นก็ขอเบอร์โทรเขาเพื่อจะถามว่าได้ตีพิมพ์หรือไม่ นั่งรถเมล์กลับบ้าน รุ่งขึ้นโทรไปถามว่าเป็นไงบ้างครับ ปลายสายบอกว่า “ลงไปแล้ว” ฉบับเช้าวันถัดมา เหมือนเด็กเลยนะ ดีใจ บทความชิ้นแรกในชีวิต ได้ตีพิมพ์ครึ่งหน้า จากนั้น บก.ก็เรียกไปคุย ถามว่าสนใจเขียนไหม ให้พื้นที่ประจำทุกวันศุกร์ เขียนได้หลาย 10 ตอน

ช่วงนั้น อสมท มีคลื่นเอฟเอ็ม 95 เป็นคลื่นเพลงคลาสสิก 24 ชั่วโมง ครั้งหนึ่งโทรไปถามชื่อเพลง ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของคลื่น เขาสังเกตว่าเรารู้จักเพลงคลาสสิกดี จึงถามว่าสนใจมาร่วมงานด้วยกันไหม วันหลังให้ไปคุยกับ

ผู้บริหารคือรองสุวรรณ ท่านอยากได้คนที่รู้เรื่องเพลงคลาสสิกมาช่วยงาน

คิดในใจว่าคงไม่ได้หรอก คงเป็นครูไปตลอดชีวิต (ขณะนั้นสอนวิชาดนตรีที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย) ตอนที่เข้าไปคุยนั้น ได้นำผลงานที่ได้ตีพิมพ์กับสยามรัฐหลายสิบชิ้นใส่แฟ้มไปด้วย ท่านจึงบอกว่า “มาอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักสิ” จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 20 กว่าปีแล้ว

จำได้ว่าสมัยเรียน เคยฝันอยากเป็นนักจัดรายการวิทยุกับนักวิจารณ์ดนตรี เพื่อนก็หัวเราะกันว่าไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อเวลาจัดรายการ แล้วก็อยากเขียนด้านดนตรี ทุกวันนี้เพื่อนก็หัวเราะว่า มันเอาของมันจนได้ ได้จัดรายการ ได้เขียนด้านดนตรีจริงๆ

หลายคนไม่ฟังดนตรีคลาสสิก เพราะคิดว่า ‘คลาสสิกฟังยาก ต้องปีนบันไดฟัง’?

มันมีความจริงอยู่ในนั้น… อย่าเรียกว่าดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีชนิดเดียวที่ต้องปีนบันไดฟัง ในโลกนี้ยังมีดนตรีอีกหลายอย่างที่ฟังยากกว่าเพลงคลาสสิก อย่างดนตรีไทย ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ว่าฟังยากมาก มีการเล่นกลอนเพลง เล่นระดับกันลึกซึ้ง มีคนพูดว่าถ้าคุณไม่ได้เรียนดนตรีไทย ไม่ได้ตีระนาด ไม่ได้ตีฆ้องเอง ไม่มีทางเข้าใจดนตรีไทย ต้องจับเอง เล่นเอง แล้วจะเข้าใจว่าเขาทำอะไรกันอยู่

อย่างภาพเขียน ทำไมคนต้องดูภาพเขียนที่ดูยาก ทำไมภาพเรียลิสติกไม่ดู ทำไมอยู่ๆ ต้องมาหาสัญลักษณ์ที่เข้าใจยาก การที่เราพยายามเข้าถึงมัน นั่นแหละคือการพัฒนาตัวของเราเอง

“คุณจะลดระดับศิลปะลงมาหาตัวคุณ หรือคุณจะยกตัวเองให้สูงขึ้นไปหาศิลปะ” จะพยายามปีนบันไดขึ้นไปหาดนตรี หรือจะลดดนตรีให้มันต่ำลงมาที่พื้น

ผมเคยด่าคนที่ปีนเขาเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น ว่าไร้สาระ แล้ววันดีคืนดีผมก็ปีนขึ้นเขาเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น… ทุกวันนี้ยังตบเข่าอยู่เลย รู้แล้วว่าทำไมคนถึงยอมลำบาก ปีนขึ้นเขาฝ่าอากาศหนาวตอนเช้ามืด ยอมลำบากเพื่อให้ได้เห็นพระอาทิตย์โพล่พ้นเหลี่ยมเขาในเวลาไม่กี่วินาที เหมือนอัญมณีโผล่พ้นยอดเขา เป็นความรู้สึกที่ไม่มีใครบอกเราได้ ไม่มีใครให้ความงามนั้นได้ หากเราไม่ได้สัมผัสด้วยตัวของเราเอง ผมว่ายากกว่าฟังเพลงคลาสสิกอีกนะ

หาหนังสืออ่านยาก หาหนังดูยากมาดูกันเถอะ หาอะไรเรียกว่ากระแสรองมาเสพกัน นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เรายกระดับตัวเอง ทำให้เราละเมียดละไมขึ้น ทำเรายกตัวเอง ทำให้เรารู้จักค้นหาอะไรมากขึ้น

เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ทำไมชื่อของ ‘โมสาร์ท’ หรือ ‘เบโธเฟ่น’ มักเป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกพูดถึง?

ไม่ใช่แค่เมืองไทยแต่เป็นกันทั่วโลก เหมือนกับละครที่ทุกคนต้องนึกถึงเชคสเปียร์

มันมีความหมายในตัว ในเชิงดนตรี เซอร์คาร์ดุสบอกว่า “At the present time Beethoven is neither to be claim by the new or the old-กระทั่งปัจจุบันเรายังไม่สามารถบอกได้เลยว่าเบโธเฟ่นเป็นคนเก่าหรือคนใหม่” สิ่งที่เบโธเฟ่นคิด ระบบวิธีคิด งานของเขามีความเป็นนิรันดร์ ความหมายพ้นกาลเวลา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะรู้ว่าเบโธเฟ่นอยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีคำว่าล้าสมัยหรือล้ำสมัย

จากที่เคยถูกพันธนาการทางกฎเกณฑ์ในยุคคลาสสิก เบโธเฟ่นเปิดให้คนมีอิสรภาพทางดนตรี อิสรภาพทางความคิด เขามาพร้อมกับความตื่นตัวทางสังคม การเมือง ปรัชญา เป็นยุค Enlightenment ที่ผู้คนต่างแสวงหาความรู้ ความจริง ซึ่งเบโธเฟ่นเป็นผู้นำทางดนตรี

ถามว่าการใฝ่หาความรู้ การใฝ่หาความจริง ใฝ่หาเสรีภาพ ภราดรภาพ ปัจจุบันยังใฝ่หากันอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่แสดงว่าคุณอยู่ยุคเดียวกับเบโธเฟ่นหรือ? นี่แหละ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าฟังตอนไหนก็มีความหมาย

ศิลปะส่องให้เราเห็นว่าเราเขลาอย่างไร ปลุกให้เราตื่นขึ้น จึงเรียกว่าความหมายนิรันดร์ เหนือกาลเวลา

 

โมสาร์ทกับความขมขื่นในออสเตรีย

“กรุงเวียนนา” ในทางภูมิศาสตร์เป็นเมืองหลวงของประเทศออสเตรีย แต่ในทางวัฒนธรรม

“เวียนนาได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองหลวงแห่งดนตรีคลาสสิก”

โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) คีตกวีเอกของโลกก็เป็นชาวออสเตรีย มีบ้านเกิดอยู่ที่เมืองซาลซ์บูร์ก (Salzburg) เมืองใหญ่อันดับ 4 ของออสเตรีย

ย้อนไปเมื่อปี 2556 บวรพงศ์มีโอกาสได้ไปเยือนออสเตรีย ทั้งชมคอนเสิร์ตของวง The New York Philharmonic ที่ Wiener Konzerthaus และ ชมการแสดงของวง Staatskapelle Berlin ที่ Musikverein กรุงเวียนนา

“ถ้าโมสาร์ทมาเห็นออสเตรียทุกวันนี้คงร้องไห้ ทั้งกรุงเวียนนาที่เป็นเมืองหลวงและซาลซ์บูร์กเมืองบ้านเกิด

“มันแสดงให้เห็นถึงความจอมปลอมของคนในโลกนี้ ตอนอยู่คุณทำอะไรกับเขา แล้วตอนนี้ยกเขาสูงยิ่งกว่าเทพอีก ผมเศร้านะ แต่งชุดโมสาร์ทขายบัตร ขายช็อกโกแลต ขายกันเกินไป ขนาดเป็นคนรักดนตรียังรู้สึกว่าเกินไป ยิ่งพอเรารู้เรื่องว่าโมสาร์ทเจ็บช้ำกับเมืองบ้านเกิด ที่ไม่ให้โอกาส ไม่ยกย่องเขาขณะที่ยังมีชีวิต แต่ทุกวันนี้คุณทำเขา มันน่าเสียใจ สุดท้ายความเหมาะสม ความพอเหมาะ พอควร ความจริงมันอยู่ตรงไหน”

กับการเดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตครั้งแรกของวง Vienna Radio Symphony Orchestra ที่มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ 2559

บวรพงศ์บอกว่า “ยังไม่เคยดูวงนี้แสดงสด แต่วงระดับที่มาจากเมืองนี้แล้ว มันประกันคุณภาพในตัวว่าดี

“ยังคาดหวังว่าจะดีกว่าตอนที่เวียนนาฟีลฮาร์โมนิก มาแสดงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มันแป้กจริงๆ ขอแสดงความเสียใจเลยว่าคนที่ควักเงินจ่าย แล้วยังหลงว่าเขาเล่นดี ขอให้คุณภูมิใจว่าคุณฟังเพลงไม่เป็น เล่นไม่ดี เห็นบางคนบอกว่าเล่นดีเนอะ ดีกว่าวงเมืองเรา แต่คนที่เป็นนักดนตรีลงความเห็นตรงกันว่าแป้กจริงๆ

“ดนตรี ศิลปะ สอนให้เราอยู่กับความจริง ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราประณามเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image