นักวิชาการเด็ก แนะจี้แก้กฎหมายแพ่งฯ ‘แต่งเมียเด็ก’ เพิ่มอายุขั้นต่ำสมรสเป็น 18 ปี

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนาเรื่อง “การแต่งงานของผู้เฒ่ากับเด็กน้อย” ซึ่งนำกรณีชายชาวมาเลเซียอายุ 41 ปี มาแต่งงานกับเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี มาเป็นกรณีศึกษา

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็กในคณะอนุกรรมการเด็กแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสโลกทุกประเทศกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสอยู่ที่ 18 ปี มีเพียงไม่กี่ประเทศรวมถึงประเทศไทยที่กำหนดต่ำกว่านั้น อย่างในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดการสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กกำลังเสนอปรับแก้เพิ่มอายุขั้นต่ำการสมรสให้เป็น 18 ปี เพื่อให้เป็นไปตามกระแสโลก รวมถึงเสนอแก้บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 เสนอให้ตัดในวรรคที่ระบุให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ในการพิจารณาอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกันได้ในคดีพรากผู้เยาว์และทั้งสองฝ่ายยินยอม แต่เรามองว่าการสมรสไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งนี้ หากเราไม่มีการปรับแก้ ประเทศไทยจะถูกเพ่งเล็งเป็นแกะดำในคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมการซีดอว์ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคี

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า กฎหมายอิสลามไม่กำหนดอายุขั้นต่ำผู้หญิงในการสมรส ทำให้อิหม่ามในพื้นที่ใช้ช่องโหว่ทำให้เกิดการสมรส ซึ่งถือเป็นปัญหามาก และที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นจริงกับการแต่งงานข้ามไปมาระหว่างชายแดนใต้และมาเลเซียด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นจะต้องปฏิรูป อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับทราบปัญหากรณีแต่งงานเด็กวัย 11 ขวบ จึงตกลงว่าเด็กหญิงที่จะสมรสต้องมีอายุขั้นต่ำ 17 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ขณะที่ นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างปี 2549-2559 ระบุถึงตัวเลขเด็กนักเรียนออกลางคันโดยระบุสาเหตุสมรสแล้ว 32,058 คน หรือคิดเฉลี่ยปีละ 3,000 กว่าคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี ถึงจำนวน 1,640 คน ส่วนมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 19,043 คน และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 11,375 คน ซึ่งยังไม่นับรวมกับเด็กออกลางคันคนอื่นๆที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลกลับมา และที่อยู่กินแต่ไม่ได้สมรสอีกเท่าไหร่ ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดการแต่งงานในวัยเด็ก มาจากความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะสังคมยังมองบทบาทผู้หญิงเป็นเพียงแม่และเมีย รวมถึงความยากจนที่ทำให้เด็กออกเรียนกลางคัน ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนเมื่อเด็กถูกละเมิดทางเพศก็แก้ปัญหาโดยให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบด้วยการแต่งงานเพื่อรักษาหน้าตาครอบครัว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ยึดประโยชน์อย่างแท้จริง ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก อย่างไรก็ตาม การป้องกันอยากให้มีการผลักดันขยับอายุขั้นต่ำการสมรสเป็น 18 ปี รวมถึงส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงกล้าปฏิเสธเมื่อถูกบังคับ ขณะเดียวกันกลไกของชุมชนจะต้องพยายามสนับสนุนช่วยเหลือครอบครัวยากจนให้สามารถดูแลเด็กให้ได้

Advertisement

นางสาวอุษากล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ขวบ ตนเชื่อว่าทุกศาสนาให้ความคุ้มครองเด็ก ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องบทบัญญัติ แต่ขึ้นอยู่กับตีความว่าจะตีความให้เป็นประโยชน์หรือเป็นผลร้ายแก่เด็ก

 

นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image