ศาลฎีกานักการเมืองนัดฟังคำพิพากษาลับหลัง ‘ทักษิณ’ คดีบริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ 29 ส.ค.นี้

แฟ้มภาพ

ศาลฎีกานักการเมืองนัดฟังคำพิพากษ คดี ‘ทักษิณ’ ให้ ก.คลังเข้าบริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีพีไอ โดยมิชอบ 29 ส.ค.นี้ หลังไต่สวนพยาน 6 ปากฝ่ายจำเลยไม่ตั้งทนายซักค้าน

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม.40/2561
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดจำเลยสมัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เมื่อ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องที่จะให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI
ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่ากระทรวงการคลังเป็นส่วนราชการ
มีอำนาจหน้าที่เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
พ.ศ. 2542 ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารกิจการของบริษัทเอกชน แต่จำเลยกลับเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง
เข้าไปเป็นผู้บริหารฟื้นฟูกิจการของบริษัท TPI อีกทั้งยังได้เสนอรายชื่อรายชื่อบุคคลเข้าเป็นผู้บริหารแผนด้วย ต่อมา ร.อ. สุชาติได้แจ้งไปยังสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท TPI และแจ้งรายชื่อตามที่จำเลยได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นผลให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผน การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการ

โดยคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ 3 ครั้ง ในวันที่ 10 สิงหาคม , 14 สิงหาคม และ 21 สิงหาคม 2561 โดยโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนรวม 6 ปาก
โดยการไต่สวนพยานโจทก์ในวันนี้เป็นนัดสุดท้าย ซึ่งในการพิจารณาคดีฝ่ายจำเลยไม่ได้ตั้งทนายมาซักค้าน กระบวนการไต่สวนพยานจึงเสร็จสิ้น ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 สิงหาคม 2561 เวลา 9.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่จะมีการอ่านคำพิพากษาจากกระบวนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่เปิดช่องให้ทำได้ เพื่อแก้ปัญหาจำเลยหลบหนีคดี จนต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบเป็นการชั่วคราวไม่สามารถเดินหน้ากระบวนการพิจารณาคดีได้  ซึ่งก่อนหน้านี้องค์คณะศาลฎีกาฯในคดีนี้ได้ออกหมายจับนายทักษิณให้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้วด้วยโดยกระบวนการพิจารณาคดีนี้ มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเศษ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image