กรมชลฯบริหารลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำเพชร ต่อเนื่อง พร้อมปรับแผนลดผลกระทบน้ำหลาก

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม บริเวณจ.แพร่ ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังได้รับอิทธิพลจากพายุ”เบบินคา” ทำให้เกิดฝนตกหนักและตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ นั้น ปัจจุบันระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y.20 อ.สองพี่น้อง จ.แพร่ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 192 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม.)(ปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่าน 1,350 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ลงมาที่สถานี Y.1C บ.น้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 397 ลบ.ม./วินาที(ปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่าน 890 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม) และที่สถานี Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีน้ำไหลผ่านในอัตรา 818 ลบ.ม./วินาที (ปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่าน 836 ลบ.ม./วินาที วันที่ 21 สิงหาคม) ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลต่อมายังสถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ปัจจุบัน (21 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 712 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดไม่เกิน 800 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 22 สิงหาคม เวลา 01.00 – 02.00 น. ระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 3 เมตร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป

การบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัย นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม โดยเมื่อปริมาณน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์(ปตร.) จะหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้าประตูระบายน้ำ และผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาท ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 100 และ 150 ลบ.ม./วินาทีตามลำดับ พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 650 ลบ.ม./วินาที จากนั้น จะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 150 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าคลองตาดินและคลองบางคลอง ไปเก็บกักไว้ใน ทุ่งทะเลหลวง รวมไปถึงแก้มลิงต่างๆที่ยังสามารถรับน้ำได้ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย (สถานี Y.4) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน วันนี้มีปริมาณน้ำ 777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 109 ของความจุอ่างฯ ส่งผลให้บริเวณ อ.แก่งกระจาน และอ.ท่ายาง มีน้ำล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มต่ำริม 2 ฝั่งแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานมีแนวโน้มเริ่มลดลงแล้ว ส่วนบริเวณหน้าเขื่อนเพชร กรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทาน และคลองระบายน้ำ D9 รวมกันประมาณ 120 ลบ.ม./วินาที เร่งระบายน้ำไปออกทะเล ส่วนที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตราประมาณ 160 ลบ.ม./วินาที จะไหลผ่านอ.ท่ายาง และอ.บ้านลาด ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่ง แต่คาดว่าในคืนนี้เวลาประมาณ 21.00 น. บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี จะได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง ซึ่งได้รายงานสถานการณ์น้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเสริมกระสอบทรายในพื้นที่ต่ำ ที่คาดว่าจะมีน้ำไหลล้นเข้ามาท่วมได้ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแล้ว

กรมชลประทาน ได้ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต่างๆ ได้เตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ หากเกิดน้ำท่วมขังในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตร รวมทั้ง การเตรียมพร้อมเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ และเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image