ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายแนะมีอีก 80 ไร่ เหมาะสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ขอใช้ที่ดินราชพัสดุเพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 แห่งใหม่ ตรงที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชร.225 และที่ ชร.1238 ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เนื้อที่ประมาณ 42-3-00 ไร่ ของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร นั้น ล่าสุด คณะจากศาลได้เข้าไปศึกษาดูงานพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในพื้นที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยหากมองจากถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ ซึ่งผ่านหน้าศูนย์ดังกล่าว จะเห็นแปลงสาธิตเป็นนาข้าว และไม้ผลอื่นๆ รวมถึง บ่อปลาเป็นบริเวณกว้าง

นายสนอง จรินทร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ยังไม่ได้รับหนังสือขอใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีหนังสือจากศาล จ.เชียงราย ลงวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ขอนำคณะไปดูพื้นที่เพื่อสร้างสำนักงาน และบ้านพัก ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 อธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 5 นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ธนารักษ์พื้นที่ จ.เชียงราย และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โดยได้เข้าไปดูพื้นที่ในส่วนของศูนย์เพื่อสอบถามการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน จากนั้นปรากฎข่าวว่าจะมีการใช้พื้นที่ดังกล่าว ทำให้เป็นที่ตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะยังไม่มีหนังสือสั่งการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

นายสนองกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ของศูนย์ที่ทางคณะไปดูนั้น มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ติดถนนเชียงราย-ดงมะดะ แต่พื้นที่ที่ทางศาลจะใช้จริงๆ มี 40 กว่าไร่ ทำให้ยังมีเนื้อที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่อยู่ติดอีก 20 กว่าไร่รวมอยู่ด้วย จึงทำให้พื้นที่คาบเกี่ยวกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายละครึ่ง ทำให้ทางศูนย์กำลังรอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากกรมวิชาการเกษตรว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป หากทางหน่วยเหนืออนุญาตให้ศาลเข้าใช้พื้นที่ ทางศูนย์จะต้องย้ายออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่มานานกว่า 7 ปีแล้ว โดยทั่วประเทศมีเพียง 7 แห่ง ตั้งด้วยงบประมาณการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อการศึกษาดูงาน ที่ผ่านมามีผู้ไปศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือ เพราะหน่วยงานในพื้นที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่อย่างไร ส่วนอีก 20 ไร่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ก็ขึ้นอยู่กับกรมนั้นๆ

“ปัจจุบันศูนย์มีเนื้อที่้้ทั้งหมดประมาณ 1,900 ไร่ โดยพื้นที่ที่ใช้เพื่อการวิจัยอยู่ทางด้านหลังศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวเข้าไป สำหรับศูนย์เรียนรู้ที่มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ดังกล่าวนั้น เป็นที่ราชพัสดุ และอยู่ติดกับถนน ปัจจุบันมีการทำเป็นนาข้าว ปลูกไม้ผล พืชผัก บ้านเกษตรกร สระน้ำ ฯลฯ อย่างครบถ้วน แต่ด้านข้างมีถนนเข้าไปได้อยู่ ซึ่งตนได้ให้ชาวบ้านปลูกเป็นป่าไผ่เนื้อที่รวมกันประมาณ 80 ไร่ ซึ่งอาจจะเหมาะสมมากกว่าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาต่อไป” นายสนอง กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image