สตง.เคลียร์รายงานเงินแผ่นดินไม่บันทึกขาดทุนจำนำข้าว

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนกรณีรายงานการเงินแผ่นดิน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 และ 2557 ซึ่งตรวจสอบรับรองโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ไม่ปรากฏผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท ทั้งที่ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีแดงที่ อม. 211/2560 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 หรือคดีโครงการรับจำนำข้าว ได้ระบุถึงผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท ไว้ด้วย จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากผลขาดทุนดังกล่าวมีจริงก็ควรปรากฏอยู่ในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 นั้น

นายประจักษ์กล่าวว่า เนื่องจากกรณีนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องทางเทคนิค การที่ปรากฏข่าวในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น สตง. ในฐานะที่เป็นองค์กรตรวจสอบจึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องใน 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้ ประเด็นแรกเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดิน รายงานการเงินของแผ่นดินประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน จัดทำตามหลักเกณฑ์คงค้างแบบผสม (Modified Accrual Basis) ที่กระทรวงการคลังกำหนดขึ้น ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบการปรับเปลี่ยนการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินประจำปีดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552

“รายงานการเงินแผ่นดินเป็นข้อมูลทางการเงินที่แสดงเฉพาะภาพรวมของรายการที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนำส่งและขอเบิกเงินจากคลังตามระบบงบประมาณ ปรับปรุงด้วยข้อมูลที่มีสาระสำคัญเฉพาะสินทรัพย์และหนี้สินของรัฐบาลจากส่วนราชการที่ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนรัฐบาล ได้แก่ ข้อมูลที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ข้อมูลเงินลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และข้อมูลหนี้สาธารณะจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยมิได้บันทึกบัญชีและแยกแสดงรายการและเปิดเผยข้อมูลในรายงานการเงินแผ่นดินเป็นรายโครงการ” นายประจักษ์กล่าว

นายประจักษ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองเป็นเรื่องข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรายงานการเงินแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพื่อดำเนินการปิดบัญชีโครงการดังกล่าว หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนและ/หรือสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และให้มีการปิดบัญชีเป็นปีๆ ไป โดยให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี

Advertisement

นายประจักษ์กล่าวว่า ต่อมา ในวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนจาก 2 แหล่ง ได้แก่ เงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกัน โดยให้มีการนำเงินที่ได้จากการระบายผลผลิตทางการเกษตรชำระคืนเงินทุน ธ.ก.ส.ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน กรณีมีความจำเป็นให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนระหว่างรอเงินจากการระบายผลผลิตหรือเงินจากแหล่งอื่นๆ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส.เป็นคราวๆ ไป โดย ธ.ก.ส.จะได้รับอัตราชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้และส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และให้ ธ.ก.ส.แยกการดำเนินงานโครงการออกจากการดำเนินงานปกติเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ เพื่อทราบผลกระทบจากการดำเนินโครงการและขอชดเชยความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

“โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกัน โดยกระทรวงการคลังรับภาระในการนำเงินงบประมาณชดใช้คืนต้นเงิน ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นรายปี โดย ธ.ก.ส.จัดทำเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ สำหรับข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเปลือกถือเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ในการดำเนินการปิดบัญชีโครงการดังกล่าว หลังจากครบกำหนดไถ่ถอนและ/หรือสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และให้มีการปิดบัญชีเป็นปีๆ ไป” นายประจักษ์กล่าว

นายประจักษ์กล่าวว่า สำหรับในกรณีของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น รายงานการเงินแผ่นดินได้บันทึกรับรู้รายการเฉพาะการจ่ายเงินงบประมาณชดใช้คืนเงินทุนและเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. และชดใช้ค่าบริหารจัดการอื่นๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายจากงบประมาณในปีที่ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดสรรงบประมาณและเบิกจ่ายเงินจากคลังแล้ว สำหรับเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกัน กระทรวงการคลังได้เปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบรายงานการเงินแผ่นดิน หัวข้อหนี้สาธารณะ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image