‘สสช.’ เผยปี 60 หญิงไทยประกอบอาชีพลูกจ้างเอกชน สูงสุด 37.4% จากยอดเพศหญิงมีงานทำ 17.11 ล้านคน

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสรุปผลที่สำคัญการทำงานของผู้หญิงในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 28.95 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 17.35 ล้านคน หรือ 59.9% ของผู้หญิงที่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด (เป็นผู้มีงานทำ 17.11 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.05 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 2.78 หมื่นคน) นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงที่อยู่นอกกำลังแรงงานอีก 11.60 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.1% ได้แก่ ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ ชรา เกษียณการทำงาน เป็นต้น

นายภุชพงค์ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบอาชีพระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่า อาชีพที่เพศหญิงมีจำนวนผู้ทำงานมากกว่าเพศชาย คือ เสมียน (หญิง 71.9% และชาย 28.1%) ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ (หญิง 61.2% และชาย 38.8%) และพนักงานบริการในร้านค้าและตลาด (หญิง 58.7% และชาย 41.3%) ในขณะที่บางอาชีพมีลักษณะงานเหมาะสำหรับเพศชาย เช่น ช่างเทคนิคหรือผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ (เช่น วิศวกรรม สถาปนิก เป็นต้น) เพศหญิงกลับมีสัดส่วนผู้ทำงานด้านนี้มากกว่าเพศชาย

ทั้งนี้ สำหรับสถานภาพการทำงานของแรงงานผู้หญิงปี 2560 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชน 37.4% ประกอบธุรกิจส่วนตัว 26.3% ช่วยธุรกิจครัวเรือน 24.5% ลูกจ้างรัฐบาล 10.3% นายจ้าง 1.3% และการรวมกลุ่ม 0.2% ตามลำดับ

“จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานเท่าเทียมกับชาย ซึ่งเห็นได้จากความสามารถการทำงานของผู้หญิงเพิ่มขึ้นและหลากหลายในปัจจุบัน” นายภุชพงค์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image