ปัญหา อุปสรรค : ระบบ ‘ไพรมารีโหวต’ : ปัญหาของ คสช.

ท่าทีที่เปลี่ยนไปต่อการนำระบบไพรมารีโหวต มาใช้ กำลังจะ “ประจาน” อะไรหลายอย่างในทางการเมือง อันหมักหมมและสะสมอยู่

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องตอบคำถามต่อไปนี้ได้

1 เหตุปัจจัยอะไรทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามระบบไพรมารีโหวต

ซึ่งตราเอาไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

Advertisement

1 เหตุปัจจัยที่ “คสช.” เลือกไปยึดตาม “กรธ.” แทนที่จะเป็นของ “สนช.”

จะเห็นได้ว่า คำถามข้อแรกกับคำถามข้อหลังมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน เพราะว่าเมื่อไม่อาจทำได้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 คสช.จึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปนำเอาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กรธ.ทำเอาไว้มาปัดฝุ่น

น่าสนใจก็ตรงที่เมื่อสำรวจไปหารากที่มาอันเป็นเค้ามูลอย่างแท้จริงก็มิได้มีต้นตอมาจากปัจจัยภายนอก ตรงกันข้ามเป็นเรื่องของ คสช.และเครือข่าย

Advertisement

หากเข้าใจความเป็นมาของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ก็จะบรรลุ

ถามว่าก่อนหน้ามีการประกาศคำสั่ง

หัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมามีการเคลื่อนไหวอะไรที่ถือได้ว่ามีผลสะเทือน

1 จาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 1 จาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน

2 คนนี้ทำหนังสือเรียกร้องต่อ คสช.และ สนช.ให้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยเน้นไปที่ระบบสมาชิก

นั่นแหละ คสช.จึงได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560

นั่นแหละคือการกำหนดเวลาให้มีการจดแจ้งพรรค ขณะเดียวกัน มีการยุบเลิกสมาชิกพรรคของพรรคการเมืองเก่าลงไปโดยสิ้นเชิง

ที่เรียกกันว่า “เซตซีโร่” ก็ตรงนี้แหละ

นั่นแหละ พรรคการเมืองใหม่ก็หาสมาชิกได้ ขณะที่พรรคการเมืองเก่าก็ต้องให้บรรดาสมาชิกมายืนยันที่จะเป็นสมาชิกต่อ

เหมือนกับเป็นการสร้างความเสมอภาคระหว่างพรรคใหม่ พรรคเก่า

จากเดือนมีนาคมที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 มีผลบังคับใช้ แม้พรรคเก่าจะหวานอมขมกลืนแต่ก็ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นอันดี

หวังจะพึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สำเร็จ เพราะเป็นคำสั่งตามมาตรา 44

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเดินหน้าจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะเดินหน้าจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป

หากแต่ยังมีการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” โดยใช้ “พลังดูด”

ยิ่ง “พลังดูด” แผ่แสนยานุภาพมากเพียงใด ขยายปริมาณไปมากเพียงใด แม้ว่าจะแลดูราบรื่นแต่ก็ต้องประสบกับปัญหาว่าอาจไม่ราบรื่นหากขืนยังใช้ “ไพรมารีโหวต” ตามแบบเดิม

นั่นแหละจึงเกิดการประชุมร่วม “คสช.” กับ “รัฐบาล”

นั่นแหละจึงเป็นที่มาของมติที่ว่าอาจต้องใช้คณะกรรมการสรรหา 11 คนแทนที่จะใช้ระบบไพรมารีโหวตเต็มอัตราศึกของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

เห็นหรือยังว่ารากฐานและต้นตอมาจากไหน

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า ไม่ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ไม่ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับใหม่ที่จะประกาศในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ปัจจัยมาจากปัญหาของ 1 คสช. และ 1 เครือข่าย

คำสั่งแรกจากปัญหาของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายไพบูลย์ นิติตะวัน คำสั่งหลังจากปัญหากลุ่มสามมิตรและ “พลังดูด”

น่าสงสัยว่าเป็นคำสั่งบนพื้นฐาน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือไม่ อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image