ไทย-เขมร ซัดกันนัวกลางเพจ ‘ยูเนสโก’ นัก ปวศ.ห่วง ‘ปมโขน’ ลุกลาม แนะต่างคนต่างขึ้นทะเบียน

สืบเนื่องกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวกัมพูชาจำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจยูเนสโก ยืนยันว่าการแสดงโขนเป็นของกัมพูชา. ไม่ใช่ของไทยตามที่ทางการไทยเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยกัมพูชามีนาฏศิลป์ที่เรียกว่า “ละคอนโขน” มาก่อนไทย ปรากฏในภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัดนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทย เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเชิงโต้แย้ง ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ บางความเห็นระบุว่า ดินแดนกัมพูชาบางส่วนเคยเป็นของไทย ในขณะที่บางส่วนระบุว่า โขนคือ “วัฒนธรรมร่วม” ของอาเซียน ไม่มีใครเป็นต้นกำเนิดเพียงผู้เดียว ไทยไม่ได้ขโมยจากเขมร แต่ทั้ง 2 ชนชาตินำเรื่องรามเกียรติ์จากอินเดียมาใช้เล่นโดยท่วงท่าพื้นเมืองของอุษาคเนย์

นอกจากนี้ บางความเห็นยกข้อมูลอ้างว่าไทยเคยส่งครูนาฏศิลป์ไปช่วยฟื้นฟูการแสดงในกัมพูชาหลังเกิดสงครามครั้งใหญ่ที่ทำให้ศาสตร์ดังกล่าวของเขมรสูญไป

ทั้งนี้ คนไทยบางส่วนเริ่มมีการใช้ถ้อยไม่สุภาพ และก๊อบปี้ข้อความวางในช่องแสดงความคิดเห็นซ้ำๆ นับร้อยครั้ง

Advertisement

 

Advertisement

ในขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ไทย เริ่มแสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก อาทิ นายสมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เขี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ระบุว่า “ขอฝากข้อความนี้ถึงไทยและเขมรทั้งหลายที่กำลังช่วงชิงโขนกันอยู่ ว่า มนุษย์สำคัญกว่าชิงมรดกโลกครับ”

 

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า นี่ คือ ความไม่ละเอียดอ่อน ของปัญหา ทางวัฒนธรรม และ การไม่ตระหนัก ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม รวมทั้งการ ไม่เข้าใจประเด็น ของ วัฒนธรรมร่วมคือ ร่วมกัน ไม่มีใคร เป็นเจ้าเข้า เจ้าของ หรือ ชาติใด ชาติหนึ่ง เป็นเจ้าของ แต่เพียงฝ่ายเดียว (โขน เปนเรื่องที่ต่างกับ จารึกพ่อขุนรามคำแหง ครับ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการไทยบางส่วนแนะนำว่า ทั้งไทยและกัมพูชา สามารถแยกกันขึ้นทะเบียนโขนของตนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image