นายกฯค้าปลีกคนใหม่ แนะคืนแวต ณ จุดซื้อสินค้าให้นักท่องเที่ยว มั่นใจช็อปกระจาย(ชมคลิป)

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คนใหม่ กล่าวถึงภาพรวมการค้าปลีกของไทยว่า อุตสาหกรรมการค้าปลีกของไทยเติบโตเพียง 3.9% ต่างจากเพื่อนบ้านไทย อย่าง เวียดนาม มีอัตราเติบโตสูงสุดถึง 12.7% อินโดนีเซีย 9.4% มาเลเซีย 9.2% และฟิลิปปินส์ 8.2% สะท้อนว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวฉุดไม่ให้อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยเติบโตขึ้นได้

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตขึ้นมากที่สุด คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในแต่ละปีมากเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาท แต่พบว่ามีรายได้จากการซื้อสินค้าในไทยน้อยมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ต้องการเสียภาษีในการซื้อสินค้า ซึ่งหลายประเทศได้ปลดล็อกเรื่องการเสียภาษีในการซื้อสินค้าภายในประเทศแล้ว แต่ไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากมักเข้ามาเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากกว่าที่จะเน้นการมาซื้อสินค้า ต่างจากฮ่องกงหรือสิงคโปร์ที่นักท่องเที่ยวส่วนมากตั้งใจเดินทางไปเพื่อซื้อสินค้า

นายวรวุฒิ กล่าวว่า สมาคมฯจึงต้องการผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงซื้อสินค้า (ช็อปปิ้ง) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนหลายประเทศประสบความสำเร็จจากที่นำมาใช้เป็นนโยบาย ทำให้เกิดการซื้อสินค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)อย่างเสรีภายในประเทศ โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการซื้อสินค้าปลอดภาษีสามารถทำการคืนภาษีภายในร้านได้เลย

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การกำหนดให้นำเอกสารไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบินซึ่งเป็นจุดสุดท้ายในการซื้อสินค้าไทยจะทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกขอคืนเป็นเงินสกุลประเทศของนักท่องเที่ยวและนำเงินกลับประเทศ ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสและรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล หากสามารถกำหนดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในจุดซื้อสินค้าได้จะเป็นโอกาสเกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอีกมาก

Advertisement

นายวรวุฒิ ยังกล่าวถึงเรื่องจุดส่งมอบสินค้าว่า ถือเป็นช่องทางหนึ่งในกระบวนการส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ จึงต้องมีการกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ที่ดำเนินการเองหรือให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับสิทธิสัมปทานมาดำเนินการ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส

“ผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อนและไม่สามารถประนีประนอมได้ แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความต้องการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัมปทาน โครงสร้างการกำกับดูแลรูปแบบการส่งมอบสินค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ความโปร่งใสและความเป็นธรรมของกระบวนการให้สัมปทาน รวมถึงระยะเวลาการได้รับสัมปทานที่จะใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่ดีขึ้น เป็นส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนา หากสามารถแก้ไขการให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอื่นๆ ได้ในอนาคต จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม จากอุตสาหกรรมค้าปลีกในการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นคิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 270,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ภาครัฐได้รับผลประโยชน์สุทธิรวมกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวของไทยสู่มาตรฐานใหม่ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลกมากยิ่งขึ้น”

Advertisement

นายวรวุฒิ กล่าวว่า อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ต้องเอาตัวรอดภายใต้การแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น โดยมีตลาดออนไลน์เข้ามายึดพื้นที่ในการค้า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยต้องการช่วยให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ขนาดสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ อยากให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าร่วมกับสมาคมฯเพื่อดำเนินการช่วยเหลือในต่างๆได้

นายวรวุฒิ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกว่า ในปีนี้จะยังทรงตัว และหากปี 2562 ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขตามแนวทางที่เสนอไปได้ จะทำให้สถานการณ์ภาพรวมในปี 2562 ทรงตัวต่อเนื่องเหมือนในปีนี้ แต่หากสามารถแก้ไขได้ ประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-12% เทียบเท่าอาเซียนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image