คำเตือนจากนักการเงิน วิกฤตกำลังมาเยือน!

 

สัตยาจิต ทาส (Satyajit Das) เป็นอดีตนักการธนาคารชาวออสเตรเลีย เชื้อสายอินเดีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ตลาดเงินซึ่งรู้จักกันดีทั่วโลก เคยถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดเห็นออกมาเป็นหนังสือเกี่ยวกับระบบการเงินโลกมาแล้วหลายเล่ม เมื่อปี 2014 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ของสหรัฐอเมริกา เคยยกย่องสัตยาจิตไว้ว่าเป็น 1 ใน 50 บุคคลที่ทรงอิทธิพลด้านการเงินมากที่สุดในโลก

เขาเพิ่งเขียนบทความแสดงความคิดเห็นให้กับบลูมเบิร์ก เมื่อ 3 กันยายนนี้ เตือนไว้ตรงไปตรงมาว่า เราอาจกำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตระลอกใหม่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Emerging-Market หรือ EM)

เหตุผลก็คือ เพราะสถานการณ์โลกในเวลานี้ “เข้าสูตร” การเกิดวิกฤตการณ์ในตลาดเศรษฐกิจใหม่ครบถ้วนกระบวนความแล้ว

Advertisement

ตามตำราเศรษฐศาสตร์ สูตรสำเร็จของวิกฤตการณ์ในอีเอ็ม เริ่มต้นด้วย ปริมาณหนี้มหาศาล ผสมเข้ากับภาวะ “ฟองสบู่สินเชื่อ” ในแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงการนำเงินทุนไปใช้ผิดทิศผิดทาง เช่นนำไปใช้เก็งกำไร หรือไปใช้ในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อนำพื้นฐานดังกล่าวมาบวกเพิ่มเข้าด้วยสภาพ ภาคธุรกิจการเงินอ่อนแอ, มีการขาดดุลงบประมาณสูง ควบคู่ไปกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แล้วยังมีหนี้ระยะสั้นในรูปของเงินตราต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูงอย่างมีนัยสำคัญ และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีไม่เพียงพอ

แล้วปรุงรสชาดต่อด้วย โครงสร้างทางอุตสาหกรรมของประเทศจำกัดแคบ, ประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก แถมพกด้วยภาวะอ่อนแอของสถาบันหลักของประเทศ, คอร์รัปชันระบาด และภาวะผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่

Advertisement

 เกิดหลายอย่างนี้ขึ้นพร้อมๆ กันเมื่อใด วิกฤตการณ์เกิดตามมาได้เมื่อนั้น

สัตยาจิต ชี้ให้เห็นว่า ระดับการกู้ยืมของอีเอ็มรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือ 145 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวม) ในปี 2007 เป็น 63 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือ 210 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี) ในปี 2017

หนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (ดอลลาร์, ยูโรและเยน) ของประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมดเพิ่มขึ้นราวเท่าตัวเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์

ประเทศในกลุ่มเหล่านี้อย่าง จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, แอฟริกาใต้, เม็กซิโก, ชิลี, บราซิล ไม่นับรวมถึงตุรกี กับ อาร์เจนตินา ที่เกิดปัญหาอยู่ในเวลานี้ รวมถึงประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกบางประเทศ มีหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศอยู่ระหว่าง 20 เปอร์เซ็นต์จนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ทั้งสิ้น

ข้อมูลของสัตยาจิตระบุว่า ภายในปี 2019  ประเทศเหล่านี้ถึงกำหนดต้องชำระ หรือไม่ก็ต้อง “รีไฟแนนซ์” หนี้จำนวนมหาศาลรวมกันถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องทำอย่างเดียวกันซ้ำอีกครั้งในปี 2020 อีกด้วย

นั่นคือหนี้สิน ทั้งโดยรวมและหนี้ระยะสั้นที่กำลังจ่อคอหอยอยู่ ที่ต้องพิจารณาต่อมาคือปัญหาขาดดุล

 ตุรกี และ อาร์เจนตินา ที่กำลังเกิดปัญหาในเวลานี้ มีปัญหา “ขาดดุลแฝด” คือ ขาดดุลพร้อมกัน ทั้งดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัด รวมแล้วคิดเป็น 8.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี กับ 10.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีตามลำดับ

ภาวะขาดดุลแฝดของปากีสถานต่อจีดีพี ก็เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน ในขณะที่ บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้และยูเครน (ในยุโรปตะวันออก) อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์หรือเกินกว่านั้นด้วยกันทั้งสิ้น

ในกรณีของอินเดีย ถ้าหากรวมการขาดดุลของรัฐแต่ละรัฐเข้าไปด้วย ตัวเลขขาดดุลแฝดรวมก็ถึงระดับ 2 หลักในทันที ในขณะที่ประเทศที่เหลือ ตั้งแต่ จีน, มาเลเซีย, เม็กซิโก, โคลอมเบีย, ชิลีและโปแลนด์ ตัวเลขเดียวกันนี้ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลังเช่นกัน

ในเรื่องของทุนสำรองนั้น สัตยาจิต ไม่ใช้ตัวเลขทุนสำรองมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว แต่นำมาพิจารณารวมกับดุลบัญชีเดินสะพัด และหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้ทุนสำรองเป็นตัวตั้งหารด้วยตัวเลขรวมของเงินที่จำเป็นต้องใช้ในช่วง 12 เดือนตามความจำเป็นในดุลบัญชีเดินสะพัด, หนี้ระยะสั้นที่ถึงกำหนดต้องชำระ, และการทะยอยตัดบัญชีหนี้ระยะยาว ตัวเลขที่ได้จะแสดงให้เห็นว่า ทุนสำรองที่มีนั้นสามารถครอบคลุมความจำเป็นตามพันธะทางการเงินเหล่านั้นหรือไม่

ผลปรากฏว่าคะแนนของ ตุรกีและอาร์เจนตินา ออกมาเป็น 0.4 และ 0.6 ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่กู้ใหม่ก็ไม่มีเงินใช้ตามความจำเป็นดังกล่าว ประเทศอย่าง ปากีสถาน, เอกวาดอร์, โปแลนด์, อินโดนีเซีย, มาเลเซียและแอฟริกา คะแนนออกมาไม่ถึง 1 ด้วยกันทั้งหมด

ทุนสำรองเยอะก็ใช่ว่าไม่ต้องระวังตัว เพราะหนี้ระยะยาวอาจกลายเป็นหนี้ระยะสั้นเอาได้หากมีเหตุการณ์เป็นตัวกระตุ้น นอกจากนั้นทุนสำรองอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้ เช่นในกรณีของจีน ที่ทุนสำรองส่วนหนึ่งของจำนวน 3 ล้านล้านดอลลาร์ ผูกติดอยู่กับโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ประเมินทุนสำรองของประเทศสูงกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก

ปัญหาหนี้ภายในประเทศ ดูได้จากสัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนเอ็นพีแอลของอินเดียอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หลายคนเชื่อว่า เอ็นพีแอล จริงๆ ในจีนอาจสูงกว่าที่ทางการประกาศออกมา 1.75 เปอร์เซ็นต์หลายเท่าตัว

ในกรณีของตุรกีและอาร์เจนตินา การกลับมาใช้นโยบายเข้มงวดของ กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการซื้่อพันธบัตรลง ซึ่งทำให้เงินทุนที่ไหลเข้าประเทศเศรษฐกิจใหม่ลดลง และต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้่นโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องเปิดโปงสถานะอ่อนแอทางการเงินของประเทศให้เห็นได้ในไม่ช้าไม่นาน

ความตึงเครียดทางการค้า การแซงก์ชัน และเกิดความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้น

ความอ่อนแอในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกับความอ่อนแอในระบบการเงิน จะก่อให้เกิดวัฏจักรเลวร้ายสะท้อนกลับไปกลับมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเงินทุนไหลออก ค่าเงินก็ทรุด และกดดันให้ราคาของสินทรัพย์ ทั้งพันธบัตร หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ทรุดตามลงไปด้วย ลูกหนี้ทั้งหลายจะเริ่มมีปัญหา การเบี้ยวหนี้เกิดขึ้นแล้วตามมาด้วยปัญหาในระบบธนาคาร ที่จะสะท้อนกลับไปหาเศรษฐกิจอีกระลอก

ข้อสังเกตของ สัตยาจิต ดาส ก็คือ กรณีของตุรกี และอาร์เจนตินา อาจถือได้ว่าเป็นกรณีจำเพาะก็จริง แต่ด้วยสภาพทั้งหมดนี้ วิกฤตใหม่ก็อาจลุกลามออกไปเร็วและกว้างขวางมากกว่าที่คิดกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image