ส.นักกม.สิทธิฯจี้รัฐ-ตร.ทบทวนการจับกุมเพจแฉกรณีแหม่มเกาะเต่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 5 กันยายน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดีแอดมินเพจและบุคคล 12 ราย กรณีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศต่อนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า”

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “ด้วยปรากฏรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า ได้มีการออกหมายจับแอดมินเพจ CSI LA และคนแชร์ข้อมูลจากเพจดังกล่าวอีก 12 ราย ตามหมายจับศาลจังหวัดเกาะสมุย ที่ 65-77 /2561 ลงวันที่ 3 กันยายน 2561 ในฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ทำการไล่จับกุมบุคคลตามหมายจับดังกล่าวไปแล้ว 9 ราย และคาดว่าจะมีการนำส่งพนักงานสอบสวน สภ. เกาะสมุยภายในวันนี้

มูลเหตุที่นำมาสู่การถูกออกหมายจับ เนื่องจากเพจ CSI LA ได้เผยแพร่ข้อความที่ในวันที่ 25 สิงหาคม 2561 เกี่ยวกับกรณีหญิงสาวอายุ 19 ปี นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ ถูกข่มขืน ที่หาดทรายรี ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ระบุว่ากระแสข่าวดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมทั้งระบุว่าจะมีการดำเนินคดีกับเพจคือ เพจสมุยไทม์ และเพจ CSI LA ที่นำเสนอข่าว หลังจากนั้น วันที่ 31 สิงหาคม 2561 ก็ปรากฎรายงานข่าวว่าตำรวจยุติคดีนี้ เพราะไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และคำให้การสอบปากคำว่ามีเหตุมอมยาข่มขืนขึ้นจริง ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบปากคำผู้เสียหาย และต่อมาตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับแอดมินเพจและคนแชร์ข่าวทั้ง 12 คนตามที่ระบุข้างต้น

การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และต้องถูกตรวจสอบการทำงานได้ การแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชน ที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ โดยหวังผลเพื่อยุติการตรวจสอบ หรือยุติเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชญกรรมที่เกิดขึ้นว่ามีข้อเท็จจริงประการใด ทั้งๆที่รู้ว่าการกระทำของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ดังกล่าวมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และในที่สุดอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ถือว่าเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Litigation Against People Participation-SLAPP) และอาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือมาศาลโดยมือที่ไม่สะอาดได้

Advertisement

การดำเนินการขอออกหมายจับโดยศาลเพื่อนำประชาชนที่ให้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญานั้นมีความสำคัญและต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเคร่งครัด การอ้างความมั่นคงปลอดภัยของประเทศโดยลอยๆตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรเสียหาย โดยองค์กรตุลาการเองก็มีหน้าที่พิจารณาคำร้องขอออกหมายอย่างรอบคอบเพื่อให้ปรากฏชัดเจน มีข้อเท็จจริงเพียงพอเชื่อได้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศหรือไม่เพียงใด เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การอนุญาตออกหมายจับโดยศาลโดยง่ายกับประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นหรือเพียงแค่การแชร์ข้อความย่อมส่งผลวงกล้าวต่อประชาชนทำให้ประชาชนและสาธารณะสูญเสียความไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระอย่างตุลาการ อีกทั้งการริเริ่มโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยใช้กฎหมายพรบ.คอมพิวเตอร์ในข้อหาหมิ่นประมาทต่อประชาชนอาจถูกมองว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและไม่เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

สำหรับกรณีนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามด้านล่างนี้ มีความเห็นว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในการช่วยเหลือราชการเพื่อแสวงหาความจริงและรายงานข้อมูลที่พบเห็นที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการนำผู้กระทำผิดในคดีอาชญกรรมมาลงโทษ ซึ่งเป็นการร่วมกันสร้างความเป็นธรรมให้สังคมและเป็นการสร้างมั่นคงปลอดภัยต่อสาธารณะที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามด้านล่างนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ให้มีการทบทวนและยุติการดำเนินคดีกับแอดมินเพจ CSI LA และผู้แชร์ข้อมูลทั้ง 12 ราย รวมถึงยุติการดำเนินคดีกับบุคคลอื่นๆที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา เพราะการที่รัฐใช้การฟ้องคดีปิดประชาชนที่แสดงความคิดเห็น ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐเป็นไปในทางลบ แสดงให้เห็นความเป็นรัฐที่ความโปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้ การฟ้องคดีปิดปากประชาชนยังไม่สอดคล้องกับวิถีของสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็น และยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทยด้วย

2.เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุม/ผู้ต้องหาตามหลักประกันสิทธิที่พวกเขาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การไม่นำผู้ถูกจับกุมมาแถลงข่าวต่อสาธารณะ การมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน และสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันหรือหลักประกัน

3.ในระยะยาวควรมีการทบทวนการบังคับใช้และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ลงชื่อ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ,มูลนิธิผสานวัฒนธรรม,มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image