จีน-แอฟริกาลงเรือลำเดียวกัน : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

“3 กันยา” บรรยากาศที่ศาลาประชาคมจีน ปักกิ่ง ชื่นมื่นไปด้วยแขกเหรื่อจากทวีปแอฟริกา เป็นการกระชับไมตรีระหว่างประเทศจีนกับแอฟริกา คือ

“การประชุมความร่วมมือระหว่างจีน-แอฟริกา” (Forum on China-Africa Cooperation 2018)
ถือเป็น “มาสเตอร์พีซ” ของการประชุมจีนที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในปีนี้
มีผู้นำแอฟริกา 53 ประเทศจากจำนวนทั้งหมด 54 ประเทศ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
เหลือ 1 ไม่มาคือ “Swaziland” เพราะยังมีความสัมพันธ์กับไต้หวัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับ
“ต้นไม้นั้นรากงามผลก็ต้องงาม มนุษย์นั้นผิวงามก็ด้วยน้ำหล่อเลี้ยงสมบูรณ์”
เป็นปฐมถ้อยคำของ “สี จิ้นผิง”
เป็นการ “เรียกแขก” ได้อย่างดี ดีเพราะเป็นคำพูดอันลึกซึ้งและทรงความหมายยิ่ง ในการเปรียบเปรยและเป็นสรณะในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจีน-แอฟริกา
โดยมุ่งตรงประเด็นการสร้างฐานรากแห่งความสัมพันธ์ให้ดีก่อน ผลจึงจะงามเหมือนต้นไม้

ไฮไลต์ของสุนทรพจน์คือวลีเด็ด “ลงเรือลำเดียวกัน” (同舟共濟) นัยว่า จีน-แอฟริกา ต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนก้าวข้ามความลำบาก เสมอ
“ลงเรือลำเดียวกัน”
แต่เรือที่ “สี จิ้นผิง” อ้างถึงนั้น เป็นเรือที่เน้น “ความสามัคคี” ซึ่งต่างกับ “เรือแป๊ะ”
จึงไม่ต้องตามใจแป๊ะ

Advertisement

ปฐมถ้อยคำของ “สี จิ้นผิง” เป็นการบ่งบอกถึงวัฏจักรและตรรกะของประวัติศาสตร์ ในอดีตจีนและแอฟริกาได้ประสบปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในทำนองเดียวกัน และหวังกันว่า จะร่วมสร้างอนาคตใหม่ โดยการเปิดทางแห่งความร่วมมือขึ้นใหม่

ทั้งปฐมถ้อยคำและวลีเด็ดของ “สี จิ้นผิง” ล้วนเป็นสำนวนของจีน
เป็นผลิตภัณฑ์อันล้ำค่าของบรรพบุรุษ
วันนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็น “ผู้บริโภค”
เป็นผู้จรรโลงวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์

สำนวน “ลงเรือลำเดียวกัน” ถือเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่ขายดี ขายดีขนาด “ฮิลลารี คลินตัน” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ยังเคยอ้างอิงสำนวนดังกล่าวในการกล่าวสุนทรพจน์

Advertisement

อันเกี่ยวกับความสัมพันธไมตรีระหว่างจีน-สหรัฐ ที่นิวยอร์กและปักกิ่ง โดยออกเสียงเป็นภาษาจีนกลางอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “同舟共濟” (ถงโจวก้งจี้)

มีประเด็นที่น่าจับตามคือ กลยุทธ์ “One Belt One Road” ของจีน เป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่กำลังทำ “โปรโมชั่น” อยู่นั้น มีความสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของแอฟริกา

การประชุมครั้งนี้ แม้เป็นเพียงพิธีการ และเป็นที่ทราบกันว่าคือ “จับมือ ชนแก้ว ถ่ายรูป”
เสร็จแล้วกลับบ้าน
แต่เป็น “สุดยอด” ของการเจริญไมตรี
เป็นการประชุมเชิงสัญลักษณ์ว่า “ความร่วมมือระหว่าง 2 ทวีป” ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ส่วนรายละเอียดก็ไปว่ากันในระดับ “การทูต”
หลายปีที่ผ่านมา การลงทุนและการค้าของจีนในทวีปแอฟริกาได้เติบโตอย่างรวดเร็ว
ฉะนั้น ความเสื่อมจึงมาเยือน

บทบาทของจีนก็ได้รับการวิพากษ์นับวันมากขึ้น รัฐบาลจีนจึงถือโอกาสนี้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบ เพื่อไขข้อข้องใจ จะเป็นการ “กินปูนร้อนท้อง” หรือเปล่าไม่ชัดเจน

จากการสำรวจของสหประชาชาติเมื่อปี 2016 แม้การลงทุนของจีนในแอฟริกาได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังล้าหลังสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส คือมาเป็นอันดับที่ 4

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและทวีปแอฟริกาได้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 คือตั้งแต่สมัยที่ยังมีหลายประเทศเป็นอาณานิคมของตะวันตก ปักกิ่งได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร

ผู้นำของแอฟริกาหลายคนได้สำเร็จการศึกษาจากจีน ผ่านการอบรมจากโรงเรียนนายทหารของจีน รับวัฒนธรรมจีน พูดภาษาจีนกลางชัดกว่า “ซินตึ๊ง” ในเมืองไทย

นอกจากนี้ ยังมีชาวแอฟริกาจำนวนไม่น้อยมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้า เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว เป็นต้น
เท่ากับจุฬาฯและธรรมศาสตร์

ส่วนใหญ่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไม่กลับบ้านเกิดกัน ประกอบสัมมาอาชีพที่จีน เพราะเขารักแผ่นดินจีน เขารักคนจีน รักภาษาจีน พูดภาษาจีนกลางได้คล่องแคล่ว
ต้องยอมรับว่าชาวแอฟริกาที่ไปศึกษาต่อที่จีนนั้น ความรู้ความสามารถในการพูดเขียนอ่าน
เหนือชั้นกว่านักศึกษาชาติใดๆ

ความสามารถการใช้ภาษานั้นสูง เป็นต้นว่า แสดงละคร ร้องเพลง ใช้สำนวนจีน ตลอดจนทำหน้าที่เป็นพิธีกร ไม่มีที่ติ คือ “ฟังสบายหู ดูสบาย พาสบายใจ” ดั่ง “born to be….”
ถ้าเป็นนักศึกษาใกล้จบ สำเนียงเสียงภาษา ไพเราะเสนาะหู ยิ่งหย่อนไปกว่าเด็กจีนไม่มากนัก
ในด้านสาธารณูปโภคนั้น ปี 1970 รัฐบาลจีนช่วยสร้างทางรถไฟ “TAZARA Railway” ระยะทาง 1,800 กิโลเมตร และเป็นผู้อุปถัมภ์เต็มตาม “อินวอยซ์”
เป็นโครงการให้เปล่าที่ใหญ่สุดของจีน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการปฏิรูปเปิดประเทศ

ต่อมาปี 1991 เมื่อครั้ง “เฉียน ฉีเซิน” เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศได้กำหนดว่า การเยือนต่างประเทศของรัฐมนตรีกระทรวงนั้นในแต่ละปี ครั้งแรกต้องเป็น “ทวีปแอฟริกา”
เวลาได้ล่วงเลยมา 28 ปี ข้อกำหนดเยือนทวีปแอฟริกา ยังดำรงอยู่ มิได้ว่างเว้น
6 ปีของ “สี จิ้นผิง” ในตำแหน่งประธานาธิบดี ได้เยือนแอฟริกาเป็นจำนวนถึง 3 ครั้ง
ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างจีน-แอฟริกาเป็นประเพณีมาแต่โบราณ
อดีต จีน-แอฟริกา เป็น “กัลยาณมิตร” ที่เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมรบกันมาไม่ทิ้งกัน

ปัจจุบัน คือหุ้นส่วนดุจ “พี่น้อง” ที่ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ
การร่วมมือกันในปัจจุบันเป็นการพัฒนาของประวัติศาสตร์
กล่าวโดยสรุปคือ “การณ์” และ “กาล” สอดคล้องต้องกัน เสมือน “ปี่กับขลุ่ย”

การร่วมมือจีน-แอฟริกาเป็นการเตือนสติสังคมโลกอีกโสดหนึ่ง ควรต้องละทิ้งซึ่ง “อคติ” แห่งการ “ขีดเส้นแบ่งเขต”ตามความคิดแบบเก่า ก้าวข้ามความคิด “มีแพ้มีชนะ” ได้แล้ว เพราะว่า
มิใช่ “Zero-sum game”
จีน-แอฟริกาจึงร่วมเปิดเส้นทางใหม่ในการพัฒนาเพื่อผลแห่งความสำเร็จอย่างเป็นนิรันดร์
โดยเกาะกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เดินหน้าแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ได้รับอานิสงส์โดยทั่วหน้า
รัฐบาลจีนเห็นว่า ความสถิตสถาพร ความรุ่งโรจน์ชัชวาล
เป็นความต้องการของชาวแอฟริกา
และก็เป็นหน้าที่ของสังคมโลก

ดังนั้น รัฐบาลจีนยินดีที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในประการสนับสนุนการพัฒนา ขอเพียงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อแอฟริกา รัฐบาลจีน “จัดเต็ม”อย่างมิพักต้องสงสัย

สังคมโลกก็ควรต้อง “จัดให้” ด้วย

ถ้ารัฐบาลจีน “จัดเต็ม” และสังคมโลก “จัดให้” ร่วมด้วยช่วยกัน
น่าเชื่อว่าพลังใดๆ ก็ไม่สามารถทำการสกัดหรือเข้าขัดขวางได้
เป็นที่ประจักษ์ว่า เงินลงทุนของจีนในแอฟริกาในสมัยต้นนั้น
เป็นการเปลี่ยนชะตาชีวิตให้แก่ชาวทวีปแอฟริกา มิพักต้องสงสัย

ตั้งแต่การประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกาเมื่อเดือนธันวาคม 2015 (Forum on China-Africa Cooperation 2015) โครงการความร่วมมือ 10 รายการที่ได้ตกลงกัน นั้น
บัดนี้ ได้เดินหน้าไปไกลแล้ว เช่น
1.การสร้างถนนเพิ่มขึ้น 3 หมื่นกิโลเมตรใกล้แล้วเสร็จ
1.ส่งน้ำบริสุทธิ์ให้ชาวแอฟริกาบริโภควันละ 9 ล้านตัน
1.จ่ายพลังไฟฟ้าใกล้ 2 หมื่นวัตต์ และติดตั้งสายไฟแรงสูงอีก 3 หมื่นกว่ากิโลเมตร
1.สร้างงานประมาณ 9 แสนตำแหน่ง

วันนี้ ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของแอฟริกาเริ่มเห็นแสงรำไร
ปฏิเสธมิได้ว่า เกิดจาการลงทุนของจีนเมื่อต้นศตวรรษนี้
การที่จีนไปลงทุนในแอฟริกา ก็เพราะแอฟริกาเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศของจีน
การลงทุนของจีนเป้าหมายคือถ่านหินและพลังงาน
และก็เป็นเป้าหมายเดียวกันกับนักลงทุนทั่วโลก

นักวิเคราะห์เห็นว่า การที่จะพัฒนาให้แอฟริกาพลิกโฉมในระยะเวลาอันสั้นนั้น ไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาอีก 3 ทศวรรษ เหตุผลคือ
แอฟริกามี 50 กว่าประเทศ มีทั้งประเทศทีทำการพัฒนาแล้ว และมีทั้งประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกและประสบความล้มเหลว

ฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในแอฟริกา
ตราบใดที่ปัญหายังดำรงอยู่ สิ่งกีดขวางในตลาดการค้าก็ต้องมีอยู่
ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองก็สูง
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือจีน-แอฟริกานั้น จะสำเร็จลุล่วงไปมิได้
ถ้าปราศจากนโยบาย “One Belt One Road”

หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนเคยชักชวนอังกฤษ และฝรั่งเศสร่วมมือกันพัฒนาแอฟริกา
เป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและสร้างสรรค์ ชื่นชมสรรเสริญยังไม่พอ
ต้องสดุดีด้วย

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image