คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ : ภาษีบริษัทก่อสร้าง โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ

เมื่อผู้รับจ้างรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าหลังจากลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างแล้ว มีปัญหาว่า ค่าจ้างล่วงหน้านี้ จะถือเป็นเงินกู้ยืมจากผู้ว่าจ้างหรือถือเป็นรายได้ของผู้รับจ้าง ค่าจ้างล่วงหน้านี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะจำกัดอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่างาน ยิ่งถ้าเป็นภาครัฐจะมีระเบียบกระทรวงการคลังกำหนดไม่ให้สูงไปกว่าอัตราดังกล่าว และผู้ว่าจ้างจะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อ ผู้รับจ้างจัดหาหนังสือค้ำประกันธนาคารมาวางไว้ให้แล้วเพื่อเป็นประกันหนี้ของผู้รับจ้างที่จะต้องทำงานใช้หนี้ผู้ว่าจ้าง จนครบจำนวนค่าจ้างล่วงหน้า

ค่าจ้างล่วงหน้าเป็นเงินกู้ยืมหรือรายได้

จุดสับสนก็เริ่มต้นขึ้นตรงนี้ สัญญาจ้างก่อสร้างไม่ว่าไทยหรือเทศ จะกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จในแต่ละงวด ถ้าเป็นงวดละเดือนและผู้ว่าจ้างตรวจรับมอบงานตามความคืบหน้ารายงวดหรือรายเดือนนั้นแล้ว ผู้ว่าจ้างก็จะออกใบรับรองการชำระเงินให้ผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างก็จะมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามใบรับรองนั้น โดย 10% ของจำนวนเงินในใบรับรอง ผู้ว่าจ้างจะหักไว้แป็นค่างานที่ผู้รับจ้างจะทำงานใช้หนี้คืนค่าจ้างล่วงหน้า หักอย่างนี้ไว้ทุกเดือนทุกงวด จนกว่าผู้ว่าจ้างจะหักครบ 100% ของค่าจ้างล่วงหน้า ซึ่งมักจะเป็นเวลา 10 เดือนหรือ 10 งวด เมื่อหักครบไว้แล้ว ผู้ว่าจ้างจึงจะคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันธนาคารให้แก่ผู้รับจ้างภายใน 7 วัน เพราะถือว่าหนี้ของผู้รับจ้างที่จะชำระคืนค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่ผู้ว่าจ้างด้วยการดำเนินการก่อสร้างให้ ได้กระทำเสร็จสิ้นแล้ว ตามสัญญาจ้างก่อสร้าง

ค่าจ้างล่วงหน้าเป็นเงินกู้ยืม

Advertisement

ค่าจ้างล่วงหน้า ที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้แก่ผู้รับจ้าง ในทางสากล ถือเป็นเงินกู้ยืมตามสัญญาจ้าง ที่ผู้รับจ้างกู้ยืมไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก่อสร้าง ที่ผู้รับจ้างต้องชำระคืนด้วยการทำงานให้เสร็จในแต่ละงวด โดยไม่ต้องชำระคืนเป็นเงินสด ยกเว้นว่าสัญญาจ้างก่อสร้างถูกผู้ว่าจ้างยกเลิก เพราะความผิดของผู้รับจ้าง อย่างนี้ผู้รับจ้างก็ต้องชำระคืนค่าจ้างล่วงหน้าที่เหลือให้แก่ผู้ว่าจ้างพร้อมค่าเสียหายอื่นๆ อันนี้เป็นสิ่งที่สัญญาจ้างก่อสร้างทั่วๆไประบุไว้ ถ้าสัญญาใดไม่ระบุไว้แสดงว่ายังเขียนไม่ละเอียดพอ อาจจะเป็นสัญญาแบบย่อ ที่วงเงินไม่มาก แต่ถ้ามูลค่าก่อสร้างสูงเป็นร้อยล้านขึ้นไป สัญญาจ้างก่อสร้างก็ควรเป็นสัญญาเต็มรูปแบบ ระบุให้ละเอียดเพื่อความชัดเจนในสิทธิและหน้าที่ของทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง

บอกเลิกสัญญาต้องคืนค่าจ้างล่วงหน้า

ประเด็นเรื่องผู้รับจ้างต้องคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นเงินสด สำหรับค่าจ้างล่วงหน้าที่ยังทำงานใช้ให้ไม่ครบ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาจ้างเพราะเป็นความผิดของผู้รับจ้างนี้ คนร่างสัญญามักจะละเลยไม่ได้ระบุเอาไว้โดยแจ้งชัด ทำให้เมื่อมีการเลิกสัญญากันจริงๆ จะมีข้อโต้แย้งว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะได้คืนเงินค่าจ้างล่วงหน้านี้หรือไม่ ทั้งที่มีตารางการชำระคืนงวดละ 10% ที่แน่ชัด แต่พอบอกเลิกสัญญากัน การชำระคืนตามตารางทำไม่ได้ครบถ้วน ก็เลยเป็นปัญหาว่าผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องชำระต่อจนครบเป็นก้อนเดียวหรือไม่ เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญา ทางที่ดีควรจะระบุประเด็นนี้ไว้ให้แจ้งชัดในสัญญาจ้าง

Advertisement

สัญญาจ้างก่อสร้างแท้ที่จริงแล้วคือสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ส่วนคำว่าผู้รับจ้าง และผู้ว่าจ้าง ก็เป็นถ้อยคำเป็นทางการ ที่ป.พ.พ.ใช้เรียกคู่สัญญา

ค่าจ้างล่วงหน้าเป็นรายได้พึงประเมิน

แต่ไม่ว่าสัญญาจ้างก่อสร้าง จะระบุไว้อย่างไร ในทางภาษีแล้ว ประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง จะถือว่า ค่าจ้างล่วงหน้า เป็นรายได้ของผู้รับจ้างเสมอ ได้รับมาในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ส่วนค่าจ้างปกติรายงวดในช่วงดำเนินการก่อสร้างที่ต้องส่งมอบงานให้กับผู้ว่าจ้างเป็นรายงวด หรือรายเดือนตามความคืบหน้าของงาน หนังสือรับรองการชำระเงินออกให้วันไหน ก็ถือว่าเกิดรายได้พึงประเมินของผู้รับจ้างวันนั้น แม้จะยังไม่ได้รับชำระ ซึ่งถือตามเกณฑ์สิทธิ์

เพราะเมื่อผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่ทำเสร็จสิ้นในแต่ละงวดแต่ละเดือนแล้ว โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการชำระเงินที่ผู้ว่าจ้างออกให้ไว้ ก็ถือว่าผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างนั้นแล้ว สิทธินี้เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แม้ว่าจริงๆจะยังไม่ได้รับชำระค่าจ้างก็ตาม

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ถ้าผู้ว่าจ้าง เป็นองค์การของรัฐบาล เวลาจ่ายค่าจ้างก่อสร้าง ก็ต้องหักไว้ร้อยละ 1 ของค่าจ้างที่จ่าย

ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นบริษัทภาคเอกชนชำระค่าจ้างให้ผู้รับจ้างที่เป็นบริษัทเช่นกันก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3%

ภาษีที่หักไว้นี้นำไปเป็นเครดิตเวลารวมคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทตามรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้นได้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% มีคำถามว่าหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อออกใบแจ้งหนี้ หรือเมื่อได้รับชำระค่าจ้าง และใบออกแจ้งหนี้ในใบเดียวกันกับใบกำกับภาษีได้หรือไม่ แล้วใบกำกับภาษีล่ะ ออกเป็นใบเดียวโดดๆ หรือออกรวมเป็นใบเดียวกับใบเสร็จรับเงินได้

ประเด็นเหล่านี้ ทำความกระจ่างได้ดังนี้ หน้าที่และความรับผิดชอบในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้รับจ้างตามกฎหมายจะเกิดขึ้น ทุกคราวที่ได้รับชำระค่าจ้างก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างมีหน้าที่เพิ่มเติมที่ต้องออกใบกำกับภาษี และใบรับ (ภาษาเป็นทางการของใบเสร็จรับเงิน) ให้กับผู้ว่าจ้างในทันทีที่ได้รับเงินค่าจ้างเช่นกัน

ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ใบรับ

ใบแจ้งหนี้ เป็นเอกสารทางการค้าและทางบัญชี ที่ประมวลรัษฎากรไม่ได้บังคับให้ผู้รับจ้างต้องออก ดังนั้นจะไปรวมเป็นใบเดียวกับใบกำกับภาษีหรือออกแยกไปก่อนเหมือนกรณีส่วนใหญ่ทั่วไป แล้วเมื่อผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างค่อยออกใบกำกับภาษีให้ก็ได้

แต่ใบกำกับภาษีผู้รับจ้างต้องออกให้ผู้ว่าจ้างเสมอ โดยระบุจำนวนเงินค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ได้รับมา และจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่คิดจากยอดรวมของค่าจ้างและค่าใช้จ่าย และใบกำกับภาษีนี้กฎหมายบังคับให้ผู้รับจ้างต้องออก ใบรับก็บังคับให้ต้องออกเช่นกัน จะออกแยกหรือออกรวมก็ไม่เป็นไร

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้รับจ้างต้องเสียนี้ ความจริงผู้รับจ้างเป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ว่าจ้าง เรียกว่าเป็นภาษีขายของผู้รับจ้าง รวมภาษีขายทั้งหมดแล้วในแต่ละเดือน ก็ให้นำภาษีซื้อรวมมาเครดิตหักออกจากภาษีขายรวม ถ้าภาษีขายรวมมากกว่าภาษีซื้อรวม ผู้รับจ้างก็ต้องนำส่งกรมสรรพากร

อากรแสตมป์

และที่ผู้รับจ้างมักจะหลงลืม หรือตั้งใจลืมก็คือผู้รับจ้างต้องเสียค่าอากรแสตมป์ในอัตรา 0.1%ของมูลค่าของสัญญา ที่ต้องชำระเป็นตัวเงิน จะซื้ออากรแสตมป์มาปิดทับลงบนตัวสัญญาเหมือนสมัยโบราณไม่ได้ โดยเฉพาะสัญญาที่มีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็นหน่วยงานรัฐบาล แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นบริษัทในภาคเอกชน การชำระอากรด้วยตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรนี้ จะใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างที่มีสินจ้างตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้รับจ้างนำแคชเชียร์เช็คไปจ่ายเป็นตัวเงินให้กรมสรรพากร แล้วสรรพากรก็จะสลักหลังตราสาร โดยนำใบรับมาแปะด้านหลังของสัญญาเป็นหลักฐานว่าได้ชำระอากรแล้ว โดยห้ามผู้รับจ้างไปซื้ออากรเป็นดวงๆมาติดหลังสัญญาให้เต็มพรืดไปหมด ค่าใช้จ่ายก้อนนี้ก็เข้าใจอยู่ว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ถ้ามูลค่าสัญญา 1,000 ล้านบาท ก็ต้องชำระค่าอากรแสดมป์สูงถึง 1,000,000 บาท ภายใน 15 วันนับจากวันลงนามในสัญญา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ก็เป็นความจำเป็น มิฉะนั้นสัญญาก็จะนำไปเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งในศาลไม่ได้

และถ้าชำระค่าอากรช้าเกินกฎหมายกำหนด หรือทำเป็นลืมไม่เสียอากรเลย แล้วถุกตรวจพบ หรือมีผู้กล่าวหาแจ้งความให้กรมสรรพากรทราบในภายหลัง ก็อาจเสียเงินเพิ่มอากรเป็นจำนวนถึง 600% ของค่าอากรเดิม รวมค่าอากรที่ต้องเสียทั้งหมดถึง 700% แทนที่จะเสียแค่ 1,000,000 บาท กลับถูกบังคับให้จำใจต้องจ่ายถึง 7,00,000 บาท

มีข้อสงสัย ถามได้ที่ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image