ส.ท.ช.ยื่น ‘กสทช.’ค้านเยียวยา’ดีแทค’ซิมดับ ชี้เอาเปรียบประเทศ

เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายณัชพล โรจน์ถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ(ส.ท.ช.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) คัดค้านกรณีที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ขอเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์

นายณัชพลกล่าวว่า พฤติการณ์ของดีแทคที่จับเอาประชาชนผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน เพื่อบีบให้ กสทช.ต้องออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวนั้น ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต้องการใช้คลื่นความถี่ฟรี หรือจ่ายค่าเช่าใช้คลื่นในอัตราต่ำโดยไม่ต้องประมูล ถือเป็นการเอาเปรียบประเทศและประชาชน

นายณัชพลกล่าวว่า หาก กสทช.ยินยอมดำเนินการตามข้อเรียกร้องของดีแทค ไม่เพียงจะเป็นการตกหลุมพรางที่เอกชนวางเอาไว้ แต่ยังทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียประโยชน์ และการที่ กสทช.จะพิจารณาออกมาตรการเยียวยาต่อกรณีดังกล่าวก็ไม่มีความสมเหตุสมผล หรือมีฐานอำนาจในการดำเนินการ เนื่องจากการจัดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุผลใดที่ กสทช.จะต้องออกมาตรการเยียวยาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่นที่เคยดำเนินการในอดีต

“กสทช.มีแผนจะทบทวนและนำคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ เดิมออกประมูล หากพิจารณาฐานราคาที่เคยประมูลในอดีตนั้น เคยสร้างรายได้จากการประมูลเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 76,000 ล้านบาท แต่หากดีแทคสามารถกดดันให้ กสทช.ออกมาตรการคุ้มครองให้ได้ ไม่เพียงจะทำให้ดีแทคสามารถช่วงชิงคลื่นความถี่ไปใช้งานได้โดยไม่ต้องประมูลแล้ว อาจก่อให้เกิดช่องทางทุจริต เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนได้อีก เพราะเมื่อเทียบเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเพื่อเป็นใบเบิกทางในการช่วงชิงคลื่นความถี่ไปใช้ฟรี โดยไม่ต้องประมูล กับการเข้าร่วมประมูลที่ต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาทแล้วย่อมคุ้มกว่าแน่” นายณัชพลกล่าว

Advertisement

นายณัชพลกล่าว นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่ามีการล็อบบี้ผู้มีอำนาจเพื่อช่วยเหลือกรณีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เครือข่ายสื่อจึงขอให้ กสทช.พิจารณาระงับแนวทางการออกมาตรการเยียวยา แต่หาก กสทช.ยังคงดึงดันที่จะออกมาตรการเยียวยา ทาง ส.ท.ช.จะร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ตรวจสอบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image