การควบคุม”เนื้อหา” ออนไลน์ แค่ไหน? อย่างไร? ถึงจะดี!

ภาพประกอบ

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวรายงานการศึกษาว่า“ด้วยวิดีโอ ออนไลน์” ของ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คองค์ ธรรมศาสตร์) กับ สหพันธ์อินเตอร์เน็ตแห่งเอเชีย (เอไอซี) โชคดีได้ทั้งตัวรายงานมาศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียด ซึ่งมีอยู่เยอะมาก แถมยังได้แลกเปลี่ยนกับ ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ เจฟฟ์ เพน กรรมการผู้จัดการสหพันธ์ฯ แบบเต็มอิ่มอีกต่างหาก

ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้มีพูดถึงกันไม่น้อยแล้วถึงนัยสำคัญของการให้บริการ วิดีโอ ออนไลน์ ผ่านช่องทางต่างๆ (ยูทูบ, เฟซบุ๊ก, ไลน์ทีวี เป็นอาทิ) โดยชี้ให้เห็นว่า เพียงปีเดียวที่ทำการศึกษาคือปี 2559 สามารถสร้างรายได้รวมให้กับเศรษฐกิจของประเทศถึง 36,800 ล้านบาท สร้างงานถึง 29,456 ตำแหน่ง

และมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเพราะได้รับความนิยมสูง ในขณะที่สภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวย

ประเด็นหนึ่งซึ่งรายงานผลการศึกษาชิ้นนี้ก็ศึกษาไว้เป็นประเด็นหลัก แล้วถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันไม่น้อยก็คือ รัฐบาล ควรควบคุมวิดีโอออนไลน์หรือไม่? ควบคุมอย่างไร? แค่ไหนดี?

Advertisement

ด้วยเหตุที่ว่าที่ผ่านมา มีข้อกังขาและถกเถียงกันอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตั้งแต่ประเด็นที่ว่า การนำเสนอวิดีโอออนไลน์นั้นเทียบเคียงได้กับการนำเสนอรายการทางสถานีโทรทัศน์หรือไม่? ถ้าเช่นนั้น ช่องทางดังกล่าวควรมี “ใบอนุญาต” ด้วยหรือไม่? เนื้อหาที่นำเสนอควรถูกตรวจสอบหรือไม่? จะทำอย่างไรหากการนำเสนอเป็นการทำลาย มากกว่าสร้างสรรค์ ?

ทั้ง ดร.สุทธิกร และ คุณเจฟฟ์ ให้ทัศนะตรงกันว่า การควบคุมการบริการในอุตสาหกรรมสื่อบนแพลทฟอร์ม “โอเวอร์ เดอะ ท็อป” หรือ “โอทีที” หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าบริการผ่านอินเตอร์เน็ต นั้นควรอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์เชิงลึกในแต่ละประเด็นมากกว่าที่จะนำเอากฎระเบียบเดิมที่ใช้กับสื่อในรูปแบบเดิมมาบังคับใช้กับสื่อใหม่ในโลกออนไลน์

ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะที่ระบุเอาไว้ในรายงานผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้

Advertisement

เหตุผลสำคัญลำดับแรกก็คือ กฏเกณฑ์ดังกล่าวเหล่านั้น กำหนดขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมแบบใหม่ ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย มีลักษณะและรูปแบบต่างกันออกไปมาก ที่สำคัญคือ บริการสื่อออนไลน์เพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่มีใครรู้ว่าวิวัฒนาการต่อไปจะเป็นอย่างไร รังแต่จะกลายเป็นเงื่อนไขบีบรัด ตัดตอน บั่นทอนความคิด ความพยายามในการสร้างสรรค์ รูปแบบและวิธีการใหม่ ที่อาจถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารไปยังผู้รับสาร ที่ไม่เพียงก่อประโยชน์ต่อผู้ผลิตสื่อเท่านั้น ยังสร้างผลลัพธ์ทางบวกต่อทั้งผู้เสพสื่อและสังคมโดยรวมอีกต่างหาก

ดร.สุทธิกร ยกตัวอย่าง กรณีวิทยุกระจายเสียงเอาไว้ว่า ในสหรัฐอเมริกา ทางการปล่อยให้มีการดำเนินการกันไปโดยที่ไม่มีการออกกฏควบคุมนานถึง 20 ปี เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้วเท่านั้นจึงตรากฎหมายเรื่องนี้ขึ้น

ทั้ง ดร. สุทธิกร และ เจฟฟ์ นำเสนอรูปแบบการควบคุมซึ่งกันและกันภายใต้ กลไกการกำกับดูแลร่วมกันของผู้ผลิต ผู้เป็นเจ้าของช่องทาง และรัฐที่หมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปมาแล้วว่า เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับความท้าทายในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวได้ดีที่สุด

เจฟฟ์ เพน ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่เฟซบุ๊ก มีการยกเลิกบัญชีผู้ใช้เป็นจำนวนมากที่ใช้เฟซบุ๊กเพจไปในทางที่ไม่เหมาะสม หรือตัวอย่างกรณีของ อเล็กซ์ โจนส์ เจ้าแห่งทฤษฎีสมคบคิดชาวอเมริกันที่ถูกแบนตลอดชีวิตจากการใช้แพลทฟอร์มสื่อออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูบ เป็นต้น

ในขณะที่ ดร.สุทธิกร ชี้ให้เห็นว่า กลไกการกำกับดูแลกันเองทำนองเดียวกันนี้ ประเทศไทยก็เคยใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่นกรณีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี ที่แม้จะไม่ทำให้ค่าแรงออกมาอย่างที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ แต่ก็ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไปข้างหน้าได้ในที่สุด

สิ่งที่รัฐควรเข้ามามีบทบาท ควรอยู่ในรูปของการส่งเสริม อย่างเช่น การให้แรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับคนไทยเพื่อสร้างเนื้อหาที่สร้างสรรค์สำหรับสื่อไทย หรือการทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน สำหรับธุรกิจที่สร้างเนื้อหาสร้างสรรค์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เพื่อให้คนไทย รู้จัก เข้าใจและรู้เท่าทัน ในการเลือกใช้ข้อมูล เนื้อหา ดิจิทัล และสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลในการเลือกและเสพสื่อ

ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับไปยังผู้ผลิตให้ผลิตและนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image