‘บิ๊กฉัตร’ นำทูต20ประเทศดูการทำลายซากเรือประมง-ชี้ไทยแก้ไอยูยูเข้มแข็ง

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 12 กันยายน 2561 ที่บริเวณหน้าวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จำนวน 20 ประเทศ จากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกอาเซียน ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อตรวจติดตามการรื้อทำลายซากเรือประมง จำนวน 9 ลำ กลางแม่น้ำท่าจีน พร้อมนำชมการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน โดยมีนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนจาก ศปมผ. กรมประมง กรมเจ้าท่า และ สมาคมการประมงสมุทรสาคร ร่วมให้การต้อนรับ

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงไทยได้ทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ภาพลักษณ์การประมงไทยในสายตาชาวโลกเป็นบวก เช่น สร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรประมง สามารถแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในระบบการประมงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นที่จะสร้างความชัดเจนของสถานะกองเรือประมงไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรือประมงให้ถูกกฎหมายอยู่ในระบบ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลโดยกรมเจ้าท่าสามารถประกาศรายชื่อเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ทั้งหมดจำนวน 10,743 ลำ ส่วนเรือประมงที่ถือว่าอยู่นอกระบบอย่างถาวรไม่สามารถกลับเข้าสู่ทะเบียนเรือไทยและเทียบท่าในประเทศไทยได้อีกต่อไป มีจำนวน 6,315 ลำ และมีเรือประมงที่ผุพังแล้วต้องดำเนินการรื้อทำลายซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทยตาม พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา 121 เพื่อไม่ให้มีการนำไปแอบแฝงกระทำผิดกฎหมายได้อีกต่อไป อีกจำนวน 861 ลำ โดยภาครัฐยังได้มีการบริหารจัดการเรื่องของการทำประมงให้ถูกต้องปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีการปรับปรุงกฎหมาย พรก. การประมง พ.ศ. 2558 และที่เพิ่มเติม มีการสร้างระบบการปฏิบัติงานอย่างมีแบบแผนอันจะทำให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืน มีการยกระดับความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการได้ทั้งระบบ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนประมงชายฝั่งให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการดูแลรักษาบริหารจัดการการทำประมงร่วมกับภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเรื่องของแรงงานประมงทั้งระบบไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายคนต่างด้าวสำหรับแรงงานภาคประมง การจัดทำระบบแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะต้องได้มาซึ่งแรงงานประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการประมงของไทยไร้ซึ่งการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย

“การรื้อทำลายซากเรือในวันนี้ จะทำลายทั้งหมด 9 ลำ จาก 44 ลำ ของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งภาครัฐมีการดำเนินการตามกระบวนการอย่างเป็นระบบมีการสำรวจและประชาสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ภายใน 30 วันตามระเบียบ การรื้อทำลายเช่นนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนครบ 861 ลำ”พลเอกฉัตรชัยกล่าว

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตของสินค้าประมงโดยจะต้องมีคุณภาพมาตรฐาน และไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันไทยได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย ได้มีการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิตโดยกำหนดให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำต้องจดบันทึกการทำการประมง (logbook) ตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิดสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ และเครื่องมือการทำประมง เมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ ชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าจะถูกรายงานโดยท่าเทียบเรือ และเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำ ผู้ซื้อผู้ขายต้องกรอกข้อมูลชนิดสัตว์น้ำและปริมาณที่ซื้อขายลงในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต

Advertisement

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า การที่เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตต่าง ๆ เข้าเยี่ยมชมระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไทยในครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเส้นทางของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตั้งแต่การจับสัตว์น้ำขึ้นมาจากทะเล ผ่านกระบวนการขึ้นท่า ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งต่อเข้ากระบวนการผลิตในโรงงาน จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ประมงเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อให้นานาประเทศเกิดความมั่นใจและเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากการทำประมง IUU นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงให้เห็นบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนที่การทำประมงทั้งระบบว่ามีคุณภาพและมาตรฐานเหนือระดับสากล มีความโปร่งใส และรับผิดชอบในธรรมาภิบาลทางทะเลของโลกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image