เผยรายละเอียดมติ “กสทช.” นัดพิเศษ ไม่เยียวยา “ดีแทค” ซิมดับ

มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2561 วันพุธที่ 12 กันยายน 2561 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
1.พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ ทำหน้าที่ประธานกรรมการ
2.พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการ
3.พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ
4.รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ
5.ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ
6.นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ
7.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เลขานุการ

ผู้ไม่เข้าประชุม
1.พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ติดภารกิจ

ระเบียบวาระที่ 5.1 :บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอทบทวนมติที่ประชุม กสทช. เรื่อง แผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในย่านความถี่ 850 MHz : ปท.1

Advertisement

มติที่ประชุม
1.ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับเรื่องการขอทบทวนมติที่ประชุม กสทช. เรื่อง แผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในย่านความถี่ 850 MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้พิจารณา

2.เมื่อที่ประชุมได้มีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จะสามารถเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กสทช. พลเอก สุกิจฯ ทำหน้าที่ประธาน กสทช. กสทช. พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ฯ กสทช. พลโท ดร. พีระพงษ์ฯ และ กสทช. รศ. ประเสริฐฯ) ได้พิจารณาทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนี้

2.1 การเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 หรือไม่

เมื่อพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายนี้แล้วเห็นว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ข้อ 3 กำหนดว่า “เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นได้และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ ในระหว่างที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองที่คณะกรรมการกําหนดตามข้อ 9 ให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราว…”

ดังนั้น องค์ประกอบที่จะเป็นเงื่อนไขในการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศฯ มี 2 ประการ คือ (1) จำนวนผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นในระบบมีเป็นจำนวนมาก (2) กสทช. ไม่สามารถเตรียมความพร้อมในการจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

2.2 สำหรับข้อเท็จจริงที่ได้มีการพิจารณาประกอบประเด็นข้อกฎหมายตาม 2.1 มีดังนี้

2.2.1 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2561 รายงานว่า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 มีผู้ใช้บริการในคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz จำนวนทั้งสิ้น 94,625 เลขหมาย แบ่งเป็น ผู้ใช้บริการทั่วไปจำนวน 65,729 เลขหมาย และผู้ใช้บริการที่เป็นองค์กรและ/หรือเครื่อง Machine 28,896 เลขหมาย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนในกรณีที่สัญญาสัมปทานของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2561 โดยสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2561 แจ้งให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการโอนย้ายลูกค้าที่มีอยู่เดิมกว่า 5 ล้านเลขหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อเทียบกับกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากซิมดับเป็นจำนวน กว่า 400,000 เลขหมาย หรือในช่วงที่ กสทช. กำหนดมาตรการให้มีการลงทะเบียนซิมก็มีซิมดับจากการไม่ได้ลงทะเบียนอีกกว่า 10.8 ล้านเลขหมาย

2.2.2 สำหรับกรณีเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อ้างว่า กสทช. ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าร่วมประมูลนั้น ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากกฎและเงื่อนไขการประมูลดังกล่าว กสทช. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว และเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดขึ้นจะต้องเป็นเงื่อนไขที่เป็นกลางต่อผู้ประกอบการทุกราย ให้สามารถเข้าร่วมการประมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น กรณีที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อ้างว่า กสทช. ไม่กำหนดเงื่อนไขการประมูลให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ต่อไป และได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องจัดทำระบบการป้องกันการรบกวนที่เกิดขึ้นนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เนื่องจาก กสทช. ไม่อาจกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นเงื่อนไขเฉพาะให้แก่ผู้เข้าร่วมรายหนึ่งรายใดได้ และในเงื่อนไขการประมูลที่ผ่านมากำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องจัดทำระบบป้องกันการรบกวน การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และได้กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาหักจากเงินประมูลได้ ซึ่งทำให้ราคาคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่กำหนดราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 37,988 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากการจัดทำระบบป้องกันการรบกวนแล้ว คงเหลือเพียง 35,988 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายแล้ว

2.2.3 สำหรับข้อกล่าวอ้างของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่จากย่าน 850 MHz ไปเป็นย่าน 900 MHz หากบริษัทฯ เป็นผู้ชนะการประมูล โดยอ้างว่าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนโครงข่ายนั้น

ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้ทางบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวและ กสทช. ได้รับเรื่องไว้แล้ว โดยหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลและมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงข่ายจริง ย่อมจะต้องมีการพิจารณาให้สิทธิแก่บริษัทฯ ในเรื่องนี้ต่อไป โดยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ด้วย ที่ประชุมจึงเห็นว่า ในประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้

2.2.4 ในปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานครั้งแรกของประเทศไทย แต่ในขณะนั้น กสทช. ไม่สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากมีข้อขัดข้องซึ่งเป็นปัญหาข้อพิพาทที่รัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของสัญญาสัมปทานเดิม ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไม่คืนคลื่นความถี่ให้แก่ กสทช. เพื่อนำมาดำเนินการจัดประมูลตามระบบการอนุญาตได้ จนเป็นเหตุให้ กสทช. ไม่อาจจัดประมูลได้ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ประกอบกับในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคเกี่ยวกับการโอนย้ายเลขหมาย จึงเป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ข้อ 3 จนกระทั่งต่อมาได้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ทางรัฐบาลจึงเข้ามาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวจนกระทั่งรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายคืนคลื่นความถี่มายัง กสทช. เพื่อดำเนินการจัดประมูล กสทช. จึงได้ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยมีบริษัทในเครือของผู้รับสัญญาสัมปทานเดิมต่างแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมประมูล และเมื่อได้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ให้บริการรายใหม่แล้ว กสทช. จึงได้กำหนดวันสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามข้อ 9 ของประกาศฯ ดังกล่าว

2.2.5 ส่วนกรณีที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวอ้างว่า หาก กสทช. ไม่กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จะทำให้ผู้ใช้บริการกว่า 22 ล้านเลขหมาย ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้รับผลกระทบนั้น
ที่ประชุมเห็นว่า มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 เป็นกรณีให้คุ้มครองผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังนั้น เมื่อลูกค้าดังกล่าวเป็นลูกค้าของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกัน จึงไม่อาจนำลูกค้ากลุ่มนี้มาใช้อ้างสิทธิในการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการได้ แต่หากบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิในการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการแล้ว ย่อมสามารถให้ผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกัน สามารถดำเนินการโรมมิ่งได้ตามกฎหมาย

3.จากการที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 ข้อ 3 ที่กำหนดเงื่อนไขในการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการไว้ 2 ประการ กล่าวคือ จำนวนผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นในระบบมีเป็นจำนวนมาก และ กสทช. ไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ประกอบที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น โดยรอบคอบแล้วเห็นว่า เมื่อ กสทช. ได้ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และมีจำนวนผู้ใช้บริการที่คงค้างอยู่ในระบบจำนวน 94,625 ราย (ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561) เมื่อเทียบกับศักยภาพในการโอนย้ายเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างน้อย 60,000 เลขหมายต่อวัน ประกอบกับข้อกล่าวอ้างของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้

ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นว่า คำร้องของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่เข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 จึงมีมติ ไม่เห็นชอบให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556

ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวข้างต้นให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อทราบ รวมทั้ง ให้ประชาสัมพันธ์กับลูกค้าที่เหลืออยู่ในระบบให้ทำการยื่นคำขอโอนย้ายภายในเวลา 23.59.59 น. ของวันที่ 15 กันยายน 2561

อนึ่ง ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช. ผศ. ดร. ธวัชชัยฯ และ กสทช.ประวิทย์ฯ) ขอเปิดเผยความเห็น โดยจะจัดทำบันทึกความเห็นจัดส่งให้ในภายหลัง

หมายเหตุ ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2561 ที่ประชุมได้มีมติรับรองมติที่ประชุม กสทช. วาระที่ 5.1 เรื่อง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอทบทวนมติที่ประชุม กสทช. เรื่อง แผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในย่านความถี่ 850 MHz

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image