4สภาวิชาชีพ ค้านร่างพ.ร.บ.อุดมศึกษา ยก 7 เหตุผล ร้องตัดมาตรา 48 ออก

วันที่ 18 กันยายน 4 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความ และนายประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชี ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร” โดยแสดงจุดยืนคัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … ” ขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … นั้น ในส่วนที่ 3 การบริการวิชาการแก่สังคม มาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้ “สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้” กลุ่มผู้แถลงข่าวระบุว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความและกฎหมายวิชาชีพบัญชี รวมถึงขัดแย้งกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … ในหมวด 2 ว่าด้วยหลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษามาตรา 8 ในหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษามาตรา 37 (3) และมาตรา 48 ซึ่งผลของการบัญญัติให้ “สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้” จะส่งผลกระทบและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนส่วนรวม ดังนี้

1.ทำให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถออกไปรับจ้างประกอบธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน…” โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลมาประกอบวิชาชีพโดยใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่มีต้นทุน ต่างกับภาระต้นทุนของภาคเอกชนทำให้ได้เปรียบภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้เกิดการว่าจ้างนิติบุคคลเอกชนหรือจ้างในอัตราที่ต่ำมาก กระทบต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาด้านวิชาชีพ ตลอดจนการจ้างงานบุคลากรวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพภาคเอกชนอย่างมากและอาจเป็นสาเหตุให้วิชาชีพเกิดความอ่อนแอในอนาคต

2.บทบัญญัติดังกล่าวขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความกฎหมายวิชาชีพบัญชี และกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว อันจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างสภาวิชาชีพกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบล่าช้าต่อการบริหารจัดการกิจการภาครัฐและส่งผลกระทบถึงสังคม ประชาชนในที่สุด

Advertisement

3.ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้อย่างอิสระในทุกสาขาวิชาชีพอย่างไม่จำกัดขอบเขตและไร้การกำกับดูแลจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการได้

4.ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาซึ่งเป็นงานในหน้าที่หลัก พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … และพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ควรมุ่งเน้นให้บุคลากรทำหน้าที่และอุทิศเวลาในการดำเนินการทางด้านวิชาการ การเรียน การสอน และการวิจัยมากกว่าบริการวิชาชีพ

5.การให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้ ส่งผลให้การได้รับบริการวิชาชีพไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพควบคุม ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลมีตั้งแต่ในชั้นของการออกแบบ การปฏิบัติตามสัญญา การรับประกันผลงาน อาจทำให้ไม่สามารถปกป้องความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และสังคม

Advertisement

6.มาตรา 48 ทำให้ไม่มีหลักประกันใดๆ ในการประกอบวิชาชีพในส่วนของความรับผิดชอบต่อผลงาน เนื่องจากหากว่าจ้างนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพ หากปรากฏว่านิติบุคคลผู้นั้นกระทำผิด สภาวิชาชีพจะมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบและลงโทษบุคคลดังกล่าวได้ถึงขั้นไม่อนุญาตให้ประกอบวิชาชีพต่อไปได้ (เพิกถอนใบอนุญาต) การมีมาตรา 48 ทำให้ไม่สามารถควบคุมดูแลสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะดังกล่าวได้

7.ปัญหาเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลมีหลายเหตุผล คือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเบียดบังเวลาราชการในการเรียนการสอนเพื่อมาประกอบวิชาชีพควบคุมหรือไม่, มาตรา 48 ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐเปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมถึงมีการรับจ้างช่วง (sub) งานในนามของสถาบันอุดมศึกษาและส่งต่องานให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (หักหัวคิว), ส่งผลกระทบต่อระบบภาษีของรัฐ เนื่องจากการว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาไม่ต้องเสียภาษีรายได้, เกิดความไม่เหมาะสมที่หน่วยงานของรัฐจะว่าจ้างหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้วยกันเองในการบริการวิชาชีพในอัตราค่าจ้างเท่ากับราคาค่าจ้างที่ดำเนินการโดยเอกชน, ส่งผลให้เกิดการทุจริตแบบบูรณาการ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เนื่องจากรายได้จากการประกอบวิชาชีพถือเป็นเงินนอกระบบงบประมาณ ทำให้หน่วยงานตรวจสอบของรัฐอื่นๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ และเกิดความตกต่ำของมาตรฐานทางศีลธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image