อยุธยาเตรียมพร้อม ผันน้ำเข้าทุ่ง 7 แห่ง กว่า 6 แสนไร่

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากรณีที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ทำหนังสือราชการ เรื่องแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง ถึงผู้ว่าราชการหลายแห่ง ว่าจะมีการเริ่มผันน้ำเข้าทุ่งนา สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนนี้เป็นต้นไปนั้น

โดยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ามี 7 ทุ่งนา ได้แก่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง รวมเนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ อยู่ในแผนการใช้พื้นที่นา ซึ่งเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ เก็บน้ำเหนือไหลหลาก มาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งได้ทำประชาคมและลงนามบันทึกข้อตกลงกับตัวแทนชาวนาแล้วว่า จะยอมให้ใช้พื้นที่นาเป็นแก้มลิงเก็บน้ำ ที่สำคัญชาวนาเข้าโครงการทำนาเหลื่อมเวลา ทำให้มีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังพร้อมกัน เสร็จสิ้นไปทั้งหมดแล้ว ก่อนวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อผันน้ำเข้าไป จะไม่มีนาข้าวเสียหายอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมดำเนินการแล้ว โดยพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ จะรับน้ำสูงสุดได้ที่ระดับความสูงค่าเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร 50 เซนติเมตร ในปริมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยา ยังไม่สูงถึงระดับวิกฤต กรมชลประทานจึงเห็นควรว่า จะมีการปล่อยน้ำเจ้าทุ่งนา 7 แห่ง แบบค่อยทยอยกระจายน้ำเข้าไป ผ่านประตูน้ำหลักของแต่ละทุ่ง ที่ระยะเวลาประมาณ 7-10 วันนับจากนี้ เพื่อให้ระดับน้ำในทุ่งสูง 50 เซนติเมตรเท่านั้น คาดว่าจะมีน้ำเข้าไป 200 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20% ของความจุทั้งหมด ส่วนอีก 800 ล้าน ลบ.ม.หรือ อีก 80%ของความจุ จะเก็บไว้สำรอง หากเกิดฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image