ทีดีอาร์ไอแนะแบ่งประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีแทนให้รายเดียว คาดอัพรายได้รัฐพุ่ง 3 แสนล้านบ.

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนแห่งประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเป็นดาวเด่นที่ช่วยฉุดให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อไปได้ ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 32.6 ล้านคน ที่สร้างรายได้สูงถึง 1.63 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5 หมื่นบาทต่อหัว เงินจำนวนนี้กระจายไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกส่วนมากมาจากนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนเป็นกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด ข้อมูลจาก Alipay ระบุว่าแหล่งช็อปปิ้งที่คนจีนชื่นชอบมากที่สุด คือ ร้านค้าปลอดภาษีและร้านสะดวกซื้อ แต่จากรายงานของ Euromonitor แสดงว่าในปี พ.ศ. 2559 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยใช้จ่ายกับการซื้อสินค้าปลอดภาษีเฉลี่ยเพียงหัวละ 47 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,550 บาทเท่านั้น เทียบกับเกาหลีใต้ที่สูงถึงหัวละ 260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,580 บาท มากกว่าไทยถึงกว่า 5 เท่า ทำให้เกาหลีใต้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีถึงกว่า 3 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยมีรายได้เพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

นางนางเดือนเด่น กล่าวว่า เกาหลีใต้ได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างรายได้จากธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันกันในธุรกิจร้านค้าสินค้าปลอดภาษีที่ชัดเจน  โดยแบ่งสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินอินชอนซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิคือประมาณ 60 ล้านคนต่อปี เป็น 12 สัมปทาน โดยในอาคาร 1 แบ่งสัญญาสัมปทานตามพื้นที่ (area concession)  6 สัญญา และ  อาคาร 2 แบ่งตามกลุ่มสินค้า (category concession) เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น หนังสือ ฯลฯ อีก 6 สัญญา  นอกจากนี้แล้วยังส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในตัวเมืองอีกด้วย โดยมีการให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในกรุงโซลกว่า 10 แห่งโดยมีทั้งร้านขนาดใหญ่ เช่น Lotte Shilla Shinsegae Galleria Duty Free  Doot Duty Free และขนาดย่อมเช่น Entras SM Duty Free หรือ Ulsan  เป็นต้น กระจายอยู่ทุกย่านของตัวเมืองเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ ขณะที่ไทย ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในประเทศไทยไม่ว่าจะในสนามบินหรือในเมืองเป็นของผู้ประกอบการรายเดียวทั่วประเทศ  ทำให้ตลาดสินค้าปลอดภาษีเป็นตลาดที่ผูกขาดอย่างสมบูรณ์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรายได้จากการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีจึงน้อย

นางนางเดือนเด่น กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่งจะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้า  ดังนั้น มีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้มีการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี โดย 1. การเปิดให้มีการประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในพื้นที่สนามบินแต่ละแห่งโดยการแบ่งสัมปทานตามประเภทของสินค้า (category concession) เพื่อที่จะได้สินค้าที่หลากหลายและมีคุณภาพและเพื่อที่จะเพิ่มรายได้จากสัมปทาน เนื่องจากมาร์จิ้นของธุรกิจค้าปลีกสินค้าแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอางจะมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าเครื่องเขียน เป็นต้น ทำให้การ “เหมารวม” สินค้าเหล่านี้ในสัมปทานเดียวกันไม่ได้รับค่าตอบแทนสูงเท่าที่ควร เหมือนกับการ เหมาขายหนี้ดีและหนี้เสียโดยไม่แยกแยะทำให้รัฐมีรายได้จากการขายทรัพย์สินน้อยกว่าที่ควร การที่ค่าธรรมเนียมสัมปทานของ ทอท. ต่ำกว่าสนามบินอื่นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 17% ของรายได้จากการจำหน่ายสินค้า เมื่อเทียบกับ 40% สำหรับสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ และ 46% ของสนามบิน ชางงี ของสิงคโปร์ตามข้อมูลของ Goldman Sachs

นางเดือนเด่น กล่าวว่า 2. เปิดให้มีการแข่งขันในการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในเมืองโดยมีการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายรายในหลายพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีจุดมอบสินค้ากลาง (หมายถึงจุดมอบสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง หรือที่เรียกว่า pick up counter) ที่สนามบินนานาชาติเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับสินค้าที่ซื้อมาก่อนเดินทางกลับได้ เพราะที่ผ่านมา บมจ. ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีการกำหนดให้มีจุดมอบสินค้ากลางที่ร้านดิวตี้ฟรีทุกรายสามารถใช้ร่วมกันได้ ทำให้แม้จะมีการเปิดให้มีร้านค้าปลอดภาษีในตัวเมืองหลายราย แต่ก็ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวได้เพราะไม่มีจุดที่จะให้ลูกค้าไปรับสินค้าที่สนามบิน ยกเว้นจะใช้ระบบ  sealed bag ที่จะต้องแสดงสินค้าที่บรรจุในถุงพิเศษที่ยังไม่เปิดต่อศุลกากรก่อนที่จะออกเดินทางออกจากประเทศ

Advertisement

“หากคิดง่ายๆ ว่าหากสามารถเพิ่มรายได้จากการซื้อสินค้าปลอดภาษี 5 เท่า จากประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็น 3.3 แสนล้านบาทเท่ากับเกาหลีใต้ ประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท และค่าธรรมเนียมสัมปทานเพิ่มจาก 17% เป็น 40% รายได้ของ ทอท. ก็จะเพิ่มขึ้นอีกถึงแสนกว่าล้านบาทต่อปี  ซึ่งหมายถึงเงินนำส่งรัฐที่สามารถใช้ในการพัฒนาประเทศที่มากขึ้น  ในปีงบประมาณ 2561 ทอท. นำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นวงเงิน 8,600 ล้านบาท ล่าสุด ทอท. แจ้งว่ากำลังให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษารูปแบบสัมปทานที่เหมาะสม การตัดสินใจเลือกรูปแบบสัมปทานไม่ว่าจะรูปแบบเดิมหรือแบบใหม่ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์ที่รอบคอบและรอบด้าน ซึ่งหมายความว่า ทอท. ควรเปิดเผยชื่อของบริษัทที่ปรึกษาและรายงานผลการศึกษาของที่ปรึกษาทั้งฉบับให้สาธารณชนได้รับทราบ” นางเดือนเด่น กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image