ก.เกษตรช่วยชุมชนสร้างรายได้ยั่งยืน ดึงซีพีเอฟ ร่วมนโยบายตลาดนำการผลิต 

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” เป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกัน นับเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยกระทรวงฯทำหน้าที่สนับสนุนให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัทเอกชน สหกรณ์การเกษตร หรือผู้ค้า เป็นต้น

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ สามารถเชื่อมโยงตลาดขนาดใหญ่ระดับโลกผ่านบริษัทชั้นนำของไทย กับเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัย ใน “โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค” ซึ่งลงนามความร่วมมือสั่งซื้อพืชผักของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) ผู้ผลิตอาหารปลอดภัยไปจำหน่ายยังทั่วทุกมุมโลก และเกษตรกรในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของกระทรวงฯ

นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) กล่าวว่า บริษัทยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่มุ่งสร้างรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยในส่วนของการจัดซื้อวัตถุดิบ ทางบริษัทจะได้รับผักจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบ คิดอาร์โค้ด รับรู้แหล่งปลูกที่ชัดเจน และเป็นผักที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP ภายใต้การคัดบรรจุและตัดแต่งตามมาตรฐานคุณภาพ GMP และที่สำคัญ คือการได้ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรไทยให้มีรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการอยู่ คือ 1.อาหารมั่นคง 2.สังคมพึ่งตน และ3.ดินน้ำป่าคงอยู่

นายสุขวัฒน์ กล่าวว่า ทางบริษัทได้ให้การสนับสนุนความรู้ด้านการปลูกผักปลอดภัยและสนับสนุนเงินในการปรับปรุง พื้นที่โรงตัดแต่ง และโรงคัดบรรจุ ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าและเงินยืมลงทุน โดยจะเริ่มต้นที่พืชผักประเภทใบกะเพรา ใบโหระพา และพริกขี้หนูพันธุ์จินดา เขียว-แดง ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรจะสามารถปรับปรุงการผลิตและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ตามที่บริษัทต้องการใช้ได้อย่างเพียงพอต่อไป โดย ซีพีเอฟ ได้มีการรับซื้อพริกจากเกษตรกรกว่า 3,000 ตัน/ปี ซึ่งพืชชนิดต่อไป ที่จะรับซื้อ คือ กะหล่ำปลี จากนี้เปิดโอกาสให้เกษตรกรเป็นผู้เสนอว่าสิค้าต่อไปที่จะนำมาเสนอจะเป็นอะไร และทางกระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้มอบนโยบายด้านการปลูกให้กับเกษตรกร ส่วนทาง ซีพีเอฟ จะคอยสนับสนุนและช่วยแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อไป ส่วนในเรื่องของราคาการซื้อ-ขาย ก็ขึ้นอยู่กับพืชชนิดนั้น ๆ ซึ่งยังไม่สามารถระบุราคาที่แน่ชัดได้ สำหรับโครงการนี้ ซีพีเอฟ จะมีการสนับสนุนในครั้งต่อไปอย่างแน่นอน

Advertisement

นายสุธรรม จันทร์อ่อน ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของกลุ่มเกษตรกรที่จะได้พัฒนากระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ ยิ่งได้รู้ว่า ซีพีเอฟ นำผลผลิตจากแปลงผักปลอดสารของทางชุมชน ไปผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป จำหน่ายในประเทศและส่งจำหน่ายในต่างประเทศ ถือเป็นการสร้างรายได้ และความมั่นคง ในระยะยาว ให้กับคนในชุมชนได้มีอาชีพ ซึ่งรายได้ไม่ได้มาจากการขายพืชผักเพียงอย่างเดียว ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าแรงในการตัดแต่ง เด็ดใบ พร้อมคัดบรรจุอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image