“ศิริ”เผยเริ่มเปิด 3 ซองคุณสมบัติเบื้องต้นปิโตรเลียม เสร็จ ต.ค.นี้ ก่อนเปิดซองที่ 4 ต่อ ลั่นธ.ค.รู้ตัวผู้ชนะแหล่งบงกช-เอราวัณ

ที่กระทรวงพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการพิจราณาซองข้อเสนอขอทำสำรวจและผลิตปิโตเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลย G1/61 (เอราวัณ) และG1/61 (บงกช) ว่า ได้เปิดให้ผู้สนใจขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกช รูปแบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เข้ายื่นเอกสารการประมูลเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตฯ ได้เปิดซองข้อเสนอที่ 1-3 ได้แก่ 1.ซองเอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย 2.เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน และ 3.เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการแผนงานการสำรวจและแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม โดยจะใช้เวลาพิจารณาการผ่านหลักเกณฑ์ประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนตุลาคมนี้

นายศิริ กล่าวว่า หลังจากนั้นเดือนพฤศจิกายนจะพิจารณาคุณสมบัติซองที่ 4 คือ ซองเอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียม เพื่อนำเสนอตนลงนาม ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ก่อนประกาศรายชื่อผู้ชนะในเดือนธันวาคมนี้ และลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

“ส่วนเงื่อนไขในการประมูล ได้มีข้อกำหนดไว้ว่าผู้ที่เข้ามายื่นข้อเสนอการประมูล จะต้องให้หน่วยงานของรัฐร่วมลงทุนในกิจการ 25% และจะดูว่าทางผู้ประมูลจะให้หน่วยงานรัฐมีบทบาทแค่ไหน และในส่วนของข้อเสนอหลัก ที่เป็นข้อสนอด้านเทคนิค ประกอบด้วย แท่นขุดเจาะน้ำมันในแหล่งบงกชและเอราวัณ 278 แท่น โดยแยกส่วนแก๊ส ,น้ำมัน, น้ำ ซึ่งอาจจะต้องมีบางแท่นที่มีการใช้งานกว่า 10 ปี ที่ต้องรื้อถอนประมาณ 5 แท่น ซึ่งผู้ประกอการที่เข้ามาใหม่ต้องตัดสินใจ ส่วนในทางเทคนิคได้เสนอให้มีการเก็บแท่นไว้ 220 แท่น”

นายศิริ กล่าวว่า ผู้จัดการด้านกรมเชื้อเพลิงฯ ได้ประเมินว่า จะต้องสร้างแท่นใหม่ จำนวน 150 แท่น ใช้งบลงทุน ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตามข้อผูกพันที่ต้องผลิตแก๊สในแหล่งเอราวัณ ขั้นต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และแหล่งบงกชไม่เกิน 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐที่เข้าถือหุ้นต้องมีเงินร่วมลงทุนประมาณ 2.5 แสนล้านบาทในส่วนของ การพิจารณาซองข้อเสนอ

Advertisement

“ก่อนหน้านี้ที่ บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ยื่นประมูลได้บอกว่าตัวเองเป็นหน่วยงานรัฐและสามารถเสนอตัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดนั้น ตามหลักการถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจริง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการเปิดประมูลครั้งนี้ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เนื่องจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เองก็มีความพร้อมทุกด้านเช่นกัน ทุกรายที่เข้ามาแข่งขันภายใต้เงื่อนไขนี้ต่างรับทราบข้อมูลมาแล้วทั้งสิ้น”

นายศิริ กล่าวว่า ส่วนผลประโยชน์ที่รัฐจะได้คิดเป็นค่าภาคหลวงในช่วง 10 ปีแรก ประมาณ 8 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ โดยผู้ชนะการประมูลต้องขายก๊าซในราคาเดียวตลอดอายุสัญญา เพื่อรักษาระดับค่าไฟคงที่ในระยะ 20 ปี ขณะเดียวกันต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณไม่ต่ำกว่า 800 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในแหล่งบงกชไม่ต่ำกว่า 700 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีแรก ขณะเดียวกันยังประเมินว่าการดำเนินการในรูปแบบพีเอสซีนี้รัฐจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าไทยแลนด์ 1 แต่จะสูงกว่าไทยแลนด์ 3 หรือไม่จะมีการเปรียบเทียบอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image