ซีไอเอ็มบีไทยเดินหน้าเพิ่มรายได้ตามแผนงานฟาสต์ฟอร์เวิร์ด รุกสินเชื่อเอสเอ็มอีใช้เครดิตเซ็นเตอร์ป้องกันเสี่ยง

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินงานตามแผนงานฟาสต์ฟอร์เวิร์ด (Fast Forward) ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารขนาดกลางภายในระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) โดยดำเนินการทั้งกระบวนการลดต้นทุนและการเพิ่มรายได้ จาก 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและไพรเวทแบงก์กิ้ง ธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจขนาดขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และธุรกิจรายย่อย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธุรกิจเวลท์ และธุรกิจรายย่อยจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวดี ส่วนรายใหญ่ขยายตัวผ่านการออกพันธบัตรให้ลูกค้า ส่งนเอสเอ็มอียังชะลอตัว เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะรุกขยายสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของกลุ่มซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีเพราะเอสเอ็มอีถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียนและธุรกิจเอสเอ็มอียังมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้ต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารจึงได้เริ่มนำฐานข้อมูล(บิ๊กดาต้า) มาใช้ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี และพัฒนาระบบเครดิต เซ็นเตอร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น คาดว่าจะทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และเริ่มเห็นการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2562 ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้คุณภาพของสินเชื่อมีทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 5.8% คาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ต่ำกว่า 5%

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อจะมีทิศทางปรับดีขึ้น แต่ธนาคารยังต้องมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะตั้งสำรองราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียของธนาคารจากปัจจุบันอยู่ที่ 93% ซึ่งต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับมาตรฐานที่ 100% และจะรักษารายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่(นิม) ให้อยู่ระดับที่ 3.8% โดยช่วงครึ่งปีแรก 2561 ผลการดำเนินงานของธนาคารยังอยูาในเกณฑ์ดี โดยรายได้จากดอกเบี้ยขยายตัว 5% รายได้จากที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 10% ทั้งนี้ ธนาคารจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนเข้ามาในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จำนวน 2,271 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม  15,140 ล้านบาทบาท เป็นทุนจดทะเบียน 17,411 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 4,542 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น ต่อหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตรา 3 หุ้นใหม่ ต่อ 20 หุ้นเดิม โดยเสนอขายในราคา 0.87 บาทต่อหุ้น จะทำให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นเป็น 14.5% จาก 13.6% และรองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าสอดรับกับแผนงานฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image