เกณฑ์รับนักเรียนปี 62 ก้าวหน้าหรือถอยหลัง? โดย : จารึก อะยะวงศ์

ตามที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นชอบหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2562 โดยมีสาระสำคัญคือ (1) การขยายจำนวนการรับเด็กต่อห้อง ในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 จากห้องละ 40 คน เป็นเพิ่มไม่เกิน 5 คนต่อห้อง เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจอนุมัติเบ็ดเสร็จภายในสถานศึกษาเอง (2) สำหรับชั้น ม.4 จะให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง (โรงเรียนดัง) จำนวน 282 แห่งสอบก่อนโรงเรียนทั่วไป แต่ปี 62 ให้เริ่มที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก่อนเป็นโรงเรียนแรก เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และเด็กสอบเข้าไม่ได้จำนวนมาก (3) ขยับช่วงเวลาการรับนักเรียน จากที่แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคม มาเป็นภายในเดือนมกราคม โดย สทศ.จะเลื่อนสอบโอเน็ตให้เร็วขึ้นประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ผู้ปกครองที่ลูกหลานยังไม่มีที่เรียนได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมหาที่เรียนให้ลูกได้มากขึ้น หลักเกณฑ์ดังกล่าวหากนำไปปฏิบัติจริง น่าจะเกิดผลดังนี้

ประการแรก การอนุญาตให้โรงเรียนขยายจำนวนเด็กต่อห้องจาก 40 เป็น 45 คน จะทำให้ “โรงเรียนดัง” มีโอกาสได้รับเงินบริจาคจากผู้ปกครองได้ง่ายและมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงเรียนที่ไม่ดังมีโอกาสได้นักเรียนที่เรียนเก่งน้อยลง และจะเป็นโรงเรียนไม่ดังอย่างถาวร เพราะโรงเรียนดังดูดเด็กเรียนเก่งไว้หมดแล้ว

ประการที่สอง การให้โรงเรียนดัง 282 โรงเรียน สอบก่อนโรงเรียนอื่นๆ (แต่ปีแรกให้เฉพาะโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งเดียวก่อน) แสดงว่าประเทศไทยมีโรงเรียนที่มีคุณภาพดีเพียง 282 โรงเรียนเท่านั้นที่เหลืออีกสองสามหมื่นโรงเรียนคุณภาพไม่ค่อยดี และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

ประการที่สาม การเลื่อนเวลาการรับนักเรียนให้เร็วขึ้น เป็นการส่งเสริมให้มีการกวดวิชามากขึ้นเพราะนักเรียนยังเรียนไม่จบหลักสูตร แต่ต้องไปสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนดังก่อน นักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 จึงต้องมีสภาพเหมือนนักเรียน ม.6 ในปัจจุบัน ที่ต้องวิ่งสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษาปีละหลายๆ สนามสอบ

Advertisement

จากข้อสังเกตข้างต้นนี้น่าจะเป็นเพราะคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระดับชาติส่วนใหญ่ไม่เคยเป็นครูสอนในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก่อน จึงไม่ทราบว่าโรงเรียนจะดังไม่ดัง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนที่เรียนเก่งไปอยู่ที่โรงเรียนไหนมากๆ โรงเรียนนั้นจะดังโดยอัตโนมัติ คุณภาพครูเป็นปัจจัยรอง ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องจึงต้องห้ามโรงเรียนดังไม่ให้ขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องอย่างเด็ดขาด เพื่อกระจายเด็กที่เรียนเก่งไปยังโรงเรียนที่ไม่ดัง วิธีทดสอบโรงเรียนดังไม่ดังง่ายๆ คือลองย้ายสลับผู้บริหารและครูโรงเรียนดัง ไปสอนโรงเรียนไม่ดังซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เรียนไม่เก่ง ผู้บริหารและครูโรงเรียนดังมีโอกาสตกม้าตายแน่นอน ดังนั้น หลักเกณฑ์การรับนักเรียนดังกล่าวข้างต้นจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวทันที

การปฏิรูปการศึกษาให้สถานศึกษามีคุณภาพใกล้เคียงกันอาจทำได้หลายวิธี แต่ที่ทำกันมาแล้วไม่ประสบผล เพราะผู้มีอำนาจเข้าไม่ถึงปัญหาของสถานศึกษาอย่างแท้จริง จึงคิดเอง สั่งเอง และไม่เคยติดตามผลอย่างจริงจัง แม้วิธีการบางครั้งได้ผลก้าวหน้าพอสมควร เช่น การจัดกลุ่มโรงเรียนที่มีทั้งโรงเรียนดังและไม่ดังเข้าด้วยกัน ให้มีการประชุมปรึกษาการบริหารงานวิชาการร่วมกันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ซึ่งได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังมีวิธียกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้ใกล้เคียงกันที่ได้ผลดีและรวดเร็วที่สุดก็คือ การจัดโรงเรียนคู่พัฒนา โดย สพฐ.กำหนดให้โรงเรียนดังทั้ง 282 โรงเรียนเป็นคู่พัฒนากับโรงเรียนไม่ดังแบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขให้ทั้งสองโรงเรียนรับนักเรียนร่วมกัน นักเรียนที่สอบเข้าโรงเรียนดังไม่ได้แต่ได้คะแนนลำดับรองลงมา ให้ไปเรียนโรงเรียนคู่พัฒนา โดยมีหลักประกันว่าทั้งสองโรงเรียนจะบริหารงานวิชาการร่วมกัน ประเมินผลร่วมกัน และอาจจะแลกเปลี่ยนครูประจำการเป็นครั้งคราว วิธีนี้กรมสามัญศึกษาเคยประสบความสำเร็จอย่างดีมาแล้ว ระหว่างโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนสตรีวิทยาในฐานะโรงเรียนดัง จับคู่กับโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ซึ่งไม่ค่อยมีนักเรียนไปสมัครเข้าเรียน ทำให้โรงเรียนโพธิสารพิทยากรกลายเป็นโรงเรียนดังทันทีในปีเดียว ทั้งนี้ โดยการประสานงานของ ผอ.สมพงษ์ พูลสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดน้อยใน ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็นครูเก่าโรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนจะได้เลื่อนเป็นผู้บริหารโรงเรียน

Advertisement

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ สพฐ.ควรจะศึกษาและรื้อฟื้นวิธีการดังกล่าวขึ้นมาปฏิบัติอย่างจริงจัง สพฐ.จะมีโรงเรียนดังเพิ่มขึ้นปีละ 282 โรงเรียนทันที และจะเกิดผลเป็นทวีคูณในปีการศึกษาต่อไป จนสถานศึกษามีคุณภาพใกล้เคียงกันทั่วประเทศ การปฏิรูปการศึกษาจะได้เดินหน้าและก้าวหน้าเสียที

จารึก อะยะวงศ์
(charuek [email protected])
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนวัดพุทธบูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image