กนอ.ดอดหารือ”ศิริ”แก้เกณฑ์2ใบอนุญาตแอลเอ็นจีอุปสรรคท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านได้เข้าพบและหารือกับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ปรับปรุงเกณฑ์การขอใบประกอบกิจการท่าเรือก๊าซธรรมชาติและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว และการขอใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ให้มีความรวดเร็ว และเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนดำเนินงานท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เนื่องจากปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมากแสดงความกังวล

“จากการหารือนายศิริ อธิบายว่าการพิจารณาใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจี เป็นประเด็นที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานกำกับอย่างกกพ.ต้องมีความระมัดระวัง เพราะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีลูกค้าชัดเจน ซึ่งประเด็นที่กนอ.หารือนั้นคือ การขอใบประกอบกิจการท่าเรือก๊าซธรรมชาติและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว ควบคู่กับการขอใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจี เป็นองค์ประกอบสำคัญของท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ไม่ใช่การมุ่งขอใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีเท่านั้น”น.ส.สมจิณณ์กล่าว

น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า สาเหตุการเข้าพบเนื่องจากที่ผ่านมา กนอ.มีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน(มาร์เก็ต ซาวด์ดิ้ง) ในโครงการดังกล่าวถึง 3 ครั้ง จากเอกชน 30 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มดำเนินการถมทะเล และกลุ่มบริหารท่าเรือ พบว่าปัญหาที่เอกชนกังวล คือ หากเข้ามาลงทุนในพื้นที่แล้วจะไม่สามารถดำเนินการนำเข้าก๊าซธรรมชาติได้ เพราะปัจจุบันการเปิดนำเข้าก๊าซธรรมชาติสำหรับบุคคลที่ 3 (เติร์ด ปาร์ตี้) มีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) รายหลัก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่เพิ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เพียงรายเดียว โดยเอกชนที่กังวล อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) , บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด , บริษัท โตเกียว แก๊ส จำกัด และบริษัท นทลิน ออฟชอร์ จำกัด

โดยเมื่อเร็วๆนี้ กนอ.ได้รายงานปัญหาความกังวลต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้สั่งการให้ไปเจรจากับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เพื่อหาแนวทางที่จะผ่อนปรนการขอใบอนุญาตทั้ง 2 ใบเพื่อสนับสนุนการลงทุน ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ กนอ.จะออกประกาศรายละเอียดเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) เพื่อเชิญชวนเอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยแบ่งเป็นท่าเรือของเหลวขนาด 200 ไร่ ท่าเรือก๊าซขนาด 200 ไร่ และคลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ขนาดพื้นที่ 150 ไร่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image