อสป.เล็งเปิดตัวห้องเย็น -162 องศา แห่งแรกของไทย

ขอบคุณภาพจากองค์การสะพานปลา

นายเทวัญ ธนมาลารัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) เปิดเผยว่า อสป. เตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือในยุทธศาสตร์ห้องเย็นอัจฉริยะ (สมาร์ทคูลลิ่ง) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยยุทธศาสตร์ห้องเย็นอัจฉริยะ จะทำให้เกิดผลพลอยได้ (By product) จากการที่ ปตท. ตกลงเช่าที่ดินจำนวน 86 ไร่ ของ อสป.ที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อสร้างโรงงานผลิตโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี อสป. จะดำเนินการทำห้องเย็นอัจฉริยะ ที่เกิดจากขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า ที่มีความเย็นติดลบ 162 องศา ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ จะนำยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ อสป.ที่มี นายชวลิต ชูขจร ประธานคณะกรรมการ อสป. เป็นประธาน หากข้อตกลงเรื่องนี้ผ่านมติตามแผนบอร์ด ก็จะสามารถลงนามความร่วมมือกับ ปตท.ได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้ ปตท.จะเป็นผู้เช่าที่ดิน เพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจี จะทำให้เกิดความเย็นในบริเวณรอบๆ ทาง อสป.จะใช้โอกาสนี้สร้างห้องเย็นเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมประมง สินค้าสัตว์น้ำ อาทิ ทูน่า โดยมีการนำเข้าปีละแสนตัน และจะขยายไปถึงการรับแช่สินค้าปศุสัตว์ รวมถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์

“เมื่อสัตว์น้ำและสินค้าปศุสัตว์รอแปรรูปก็ต้องการพักในห้องเย็น อสป.จึงจะทำห้องเย็นที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล โดยห้องเย็นนี้จะเป็นห้องเย็นที่สามารถลดต้นทุน จากปกติค่าฝากห้องเย็นกิโลกรัมละ 3 บาท ห้องเย็นที่กำลังจะพัฒนานี้ จะสามารถลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเหลือเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท หรือ ต้นทุนมีการลดลงเกือบ 70%” นายเทวัญกล่าว

นายเทวัญ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2562 อสป.จะสามารถทำกำไร และจ่ายโบนัสให้กับพนักงานได้ หลังจาก ปีที่ผ่านมา สามารถพลิกจากการขาดทุนเป็นกำไรได้ โดยแผนการดำเนินงานของ อสป. ปี 2561 ได้รับงบประมาณ จำนวน 107.6 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดทำให้สินค้าสัตว์น้ำได้รับมาตรฐานระบบควบคุมสุขอนามัย และให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ โดยแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการก่อสร้างโรงบรรจุและดองสัตว์น้ำพร้อมระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งก่อสร้างประกอบท่าเทียบเรือประมงชุมพร ได้รับงบประมาณ 43 ล้านบาท ขณะนี้เริ่มเบิกจ่ายแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการ

Advertisement

2. โครงการก่อสร้างโรงคลุมคัดเลือกสัตว์น้ำพร้อมและโรงคลุมคัดเลือดทูน่าท่าเทียบเรือภูเก็ต ได้รับงบประมาณ 53.7 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการเบิกจ่าย และ3.โครงการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในระบบขนถ่ายสัตว์น้ำสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง ได้รับงบประมาณ 10.08 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ประเภทโต๊ะคัดแยกและรางขนถ่ายสัตว์น้ำ ชนิดสแตนเลส ได้รับทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน ท่าเทียบเรือประมงสตูล ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต และท่าเทียบเรือนนครศรีธรรมราช 2.ประเภทรถยกลากพาเลท ชนิดสแตนเลส ได้รับทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงปัตตานี ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ท่าเทียบเรือประมงสตูล และ3.ประเภทเครนไฟฟ้า ได้รับทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงนราธิวาส และท่าเทียบเรือประมงชุมพร ทั้งนี้ สำหรับโครงการสุขอนามัย ขณะนี้ ท่าเทียบเรือจำนวน 13 แห่ง ที่เปิดดำเนินการในเรื่องการขนส่งสัตว์น้ำ ปัจจุบันได้รับการรับรองระบบสุขอนามัยจากกองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมงเรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image