พณ.โชว์ยอดใช้สิทธิFTAและGSP แรงดี 8 เดือนแรก เฉียด 5 หมื่นล.เหรียญ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ช่วง 8 เดือนของปี 2561 มีมูลค่ารวม 49,891.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.12% หรือมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 74.64% ของการได้รับสิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 46,721.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.77% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 75.91% และการส่งออกภายใต้ GSP มูลค่า 3,169.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.35% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 59.84%

นายอดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้จัดทำความตกลง FTA รวม 12 ฉบับ และตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 17,853.31 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน มูลค่า 11,890.12 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 6,260.61 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 4,998.82 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 2,990.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ พบว่าตลาดนิวซีแลนด์เป็นเพียงตลาดเดียว มีอัตราการขยายตัวเป็นลบ ขณะที่ทุกตลาดที่เหลือมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยตลาดขยายตัวสูงสุด คือ เปรู เพิ่ม 59.66% รองลงมาคือ จีน เพิ่ม 31.36% และอินเดีย เพิ่ม 25.07%

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 104.30) 2) ไทย-ออสเตรเลีย (ร้อยละ 91.93) 3) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 90.75) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 88.32) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 88.03) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และน้ำมันปิโตรเลียม

นายอดุลย์ กล่าวว่า ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในช่วง 8 เดือน พบว่า ประเทศที่ไทยใช้สิทธิส่งออกในแง่ของมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เวียดนาม มูลค่า 5,055.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. อินโดนีเซีย มูลค่า 4,503.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 3. ฟิลิปปินส์ มูลค่า 3,791.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยน่าจับตาการส่งออกไปเมียนมาที่ใช้สิทธิขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 64% โดยสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์จากไทย กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเมียนมา เป็นผลมาจากนโยบายพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ที่มีความต้องการสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างจำนวนมาก ในส่วนของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเข้าสู่ตลาด เพราะอินโดนีเซียเพิ่งออกประกาศลดภาษีสินค้าในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ทำให้ผู้ส่งออกสามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้แล้ว โดยผู้ส่งออกสามารถขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฟอร์ม AJ เพื่อส่งออกไปยังอินโดนีเซีย รวมถึงสามารถนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียภายใต้ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น และนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าในไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศภาคีสมาชิกความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายผ่านนายหน้าหรือประเทศที่ 3 ทั้งในระบบ Third Country Invoicing และแบบ Back-to-Back ไปอินโดนีเซียได้ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบจากการได้สิทธิประโยชน์ทางการค้านี้ ในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้อีกด้วย

Advertisement

นายอดุลย์ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิจาก 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชนอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 8 เดือน มีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกามากที่สุด คือ ประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 2,858.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.56% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 68.46% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ที่มีมูลค่า 4,176 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าใช้สิทธิฯสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

สำหรับการใช้สิทธิ GSP ไปยังสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป กรมฯ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออกเต็มรูปแบบแทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า(ระบบ REX) โดยช่วง 8 เดือน การใช้สิทธิฯกับสวิตเซอร์แลนด์ 186.21 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 33.10% การใช้สิทธิฯกับนอร์เวย์ มีมูลค่ารวม 14.16 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 69.51%

นายอดุลย์ กล่าวว่า แม้ว่าหลายฝ่ายยังมีความกังวลต่อเสถียรภาพนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่กรมฯ มั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย โดยปี 2561 ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ไว้ที่ 9% คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

” มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ช่วง 8 เดือน คิดเป็น 70.5%ของเป้าหมาย เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการใช้สิทธิฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลมาจากการส่งออกของไทย กระจายตัวในตลาดใหม่ๆ และศักยภาพการขยายตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กรมฯ จึงมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย และน่าจะขยายตัวได้มากถึง 10% ” นายอดุลย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image