เฮ! สรรพากรประกาศเกณฑ์ยกเว้นภาษีคลอดลูก-ฝากท้อง 6 หมื่นบ.

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร โดยมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ประกาศดังกล่าวกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาทโดย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ 1.กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท

2.กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ (ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึ่งประเมินที่ตนได้รับ ทั้งนี้ไม่ว่าจะแยกยื่นรายการสำหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภท หรือเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ภริยาได้รับยกเว้นภาษีได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท (ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยา ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท

3.กรณีผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์ในคราวเดียวกันแต่คนละปีภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 6 หมื่นบาท

Advertisement

4.กรณีผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์หลายคราวในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวๆละไม่เกิน 6 หมื่นบาท

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 1.ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสมีภาวะตั้งครรภ์ 2.ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล

“ในการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และ ค่าคลอดบุตรซึ่งเป็นสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ผู้มีเงินได้และคู่สมรสได้รับสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแล้ว เช่น สิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท”แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ให้หมายความว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

สถานพยาบาล ให้หมายความว่า เป็นสถานพยาบาลของทางราชการ หรือสถานพยาบาลของเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image