คลังเผยที่ประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟเรียกร้องต่อต้านสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ปี 2561 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 10 – 14 ตุลาคม 2561 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลกเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุม ซึ่งในที่ประชุมมีการเรียกร้องต่อต้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมนำเสนอถึงผลกระทบของนโยบายกีดกัดทางการค้าถ้าขยายวงกว้างขึ้นจะกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน

นางสาวกุลยากล่าวว่า ในประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2561 เป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกและผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศจากประเทศสมาชิก 189 ประเทศทั่วโลก โดย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซียกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม ต่อต้านสงครามการค้าและความขัดแย้งของ2ประเทศมหาอำนาจ(จีน-สหรัฐฯ) และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการสนับสนุนการค้าอย่างเสรี รวมทั้ง แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อาทิ การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

นางสาวกุลยากล่าวว่า ส่วนกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้กลุ่มประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่มีความซับซ้อน และผันผวนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและรายได้น้อย นอกจากนี้ ประธานธนาคารโลกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญและเร่งลงทุนในการเพิ่มศักยภาพของทุนมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

นางสาวกุลยากล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมของผู้ว่าการประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลก และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ว่าการของไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานกรรมการบริหารประจำกลุ่มออกเสียง

Advertisement

นางสาวกุลยากล่าวว่า นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้นำเสนอผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าต่อประเทศสมาชิก กล่าวคือ หากมีการขยายตัวของการกีดกันทางการค้า จะส่งผลกระทบให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เนื่องจากมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะการลงทุน รวมทั้งจะสร้างความผันผวนในตลาดเงินยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากการกีดกันทางการค้าดังกล่าว หากสามารถปรับตัวและมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image