กสทช.ห่วง 5G พ่นพิษทำคนตกงานเพียบ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อเดือนกันยายน 2561 ระบุว่า การเข้ามาของ 5G ในปี 2020 หรือปี 2563 ทั้งการเกิดการใช้อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะส่งผลกระทบให้มีกลุ่มบุคคลตกงาน โดยเฉลี่ย 10-30% ซึ่งถือเป็นข้อห่วงใยของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู เพราะแม้เทคโนโลยีจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกลุ่มของอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่ต้องประสบกับปัญหาการตกงาน ภาครัฐบาลจะสามารถเพิ่มองค์ความรู้ให้ได้อย่างไร

นายฐากรกล่าวว่า เมื่อ 5G เข้ามาในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตใน 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1.ภาคการผลิต ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจะลดการใช้แรงงานในส่วนของภาคการผลิตลง 30-40% 2.ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องมีการทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ 3.ภาคการแพทย์ สาธารณสุข ที่จะต้องปิดตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน

“ภาคส่วนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด 5G ได้ คือ รัฐบาลไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เพราะโอเปอเรเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ และ 5G จะเข้ามาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” นายฐากร กล่าว

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. จะร่วมขับเคลื่อนการเข้าสู่ 5G โดยการสนับสนุนคลื่นความถี่ให้มีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่ำ ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี เกาหลี อิตาลี ที่เปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ที่มีราคาถูกลง ขณะที่ ทั่วโลกใช้วิธีเดียวกัน คือ ประเมินราคาจากทั่วโลก ในการประมูลคลื่นความถี่ โดยรูปแบบการประมูลจะเอาหลายคลื่นมาประมูลพร้อมกัน ซึ่ง กสทช.ยังมีเวลาคิดอีก 2 ปีกว่า

Advertisement

นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G เปิดเผยว่า การประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เป็นการรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการพัฒนา 5G และการทดสอบภาคสนาม รวมถึงการนำเสนอผลการประยุกต์ใช้งานที่เกี่ยวข้องก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวมองว่า การเตรียมการที่สำคัญทำให้ประชาชนทราบประโยชน์ของ 5G สำหรับแนวทางการวางกฎเกณฑ์ในการใช้คลื่นความถี่กับเทคโนโลยี 5G จะประกอบด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ 1.การใช้คลื่นความถี่ที่สหภาพโทรคมนาคม หรือไอทียูกำหนด 2.ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ 3.ผู้ผลิตอุปกรณ์ (เวนเดอร์) มีการใช้อุปกรณ์สอดคล้องกันหรือไม่

นายเสน่ห์ สายวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารคลื่นความถี่ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านเทคนิค 5G เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานได้มีแผนที่จะทำการทดลองใช้งานเทคโนโลยีระบบ 5G ในปี 2562 ซึ่งคลื่นความถี่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดที่ กสทช.จะนำมาทดสอบระบบ 5G คือคลื่นความถี่ระบบ C-Band ในช่วงย่านความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่จำนวนความจุ (แบนด์วิธ) 100 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ 24000 เมกะเฮิรตซ์ ที่จำนวนความจุ 1000 เมกะเฮิรตซ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image