เชฟรอน หนุนอาชีวะไทย “ยกโรงงานสู่โรงเรียน”พัฒนาทักษะหุ่นยนต์

จากยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ อุตสาหกรรม เอส-เคิร์ฟ สอดรับเทรนด์อุตสาหกรรมโลกที่มุ่งสู่ 4.0 เพื่อยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท แฟคตอรี่ ทำให้ความต้องการแรงงานช่างเทคนิค และช่างสายสนับสนุน ที่มีทักษะในกลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิตแห่งอนาคต มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แต่ความพร้อมของอาชีวะไทยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพยังไม่เพียงพอ สวนทางกับกระแสอุตสาหกรรม 4.0

สอดคล้องกับผลสำรวจของ “โครงการ เชฟรอน เอนจอย ไซเอนซ์: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่พบว่า นักศึกษาอาชีวะไทยยังขาดทักษะจำเป็นที่เชื่อมโยงการทำงานจริง โดยเฉพาะการสั่งการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้นถึง 40,000 ตัว ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคส่วนใหญ่ยังไม่มีหุ่นยนต์สำหรับฝึกปฏิบัติ หรือ มีก็เป็นเทคโนโลยีล้าสมัย ส่งผลให้นักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่ไม่เคยสัมผัสหุ่นยนต์ที่ใช้จริงในโรงงานยุคใหม่ ไม่รู้ว่าระยะปลอดภัยในการจับหุ่นยนต์เป็นเท่าใด รวมถึงไม่รู้ว่าเชื่อมต่อเทคโนโลยีกับหุ่นยนต์อย่างไร เมื่อเรียนจบไปจึงไม่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่เป็นหัวใจของระบบผลิตได้

จึงเป็นที่มาของการผลักดันแนวคิด “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” ของโครงการฯ ด้วยการสนับสนุนหุ่นยนต์ “เอบีบี ไออาร์บี หนึ่งสองศูนย์” จากประเทศสวีเดน พร้อมหลักสูตรอบรมทั้งหมด 27 ชุด ที่มีมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำอุปกรณ์การเรียนรู้จำลองมาตรฐานเดียวกับในโรงงานของกลุ่ม S-Curve มาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อให้เด็กฝึกฝนทักษะการใช้งานเสมือนอยู่ในโรงงานจริง

อุปกรณ์ของเอบีบีชุดนี้ จุดเด่นคือมีขนาดกะทัดรัด ซึ่งขนาดกะทัดรัดดีในแง่ของความปลอดภัย แต่ว่าในขณะเดียวกันก็มีการทำงานได้เหมือนกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอื่น เพราะว่าจริง ๆ แล้วหุ่นยนต์ตัวนี้ก็ทำงานจริง ในงานที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก แล้วก็มีโปรแกรมลักษณะเดียวกันกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ นักเรียนที่สามารถโปรแกรมอันนี้ได้ ก็สามารถไปโปรแกรมในหุ่นยนต์ขนาดใหญ่กว่านี้ได้เช่นเดียวกัน

Advertisement

นอกจากนี้ เชฟรอนยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพัฒนาแผนการสอนและคู่มือครูวิชาหุ่นยนต์ที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สอศ. เพื่อให้ครูอาชีวะสามารถนำไปปรับใช้ในการสอน โดยนำร่องใช้กับ 27 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างทั่วถึงต่อไป

ด้วยเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้นักศึกษาอาชีวะไทยเรียนจบไปใช้งานได้จริง ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

ติดตามได้จากรายงานพิเศษชุดนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image