กรมศุลฯลุยกวาดล้าง‘ยาคึก-ยาเสียสาว’ส่งจากตปท.-พบขายเกลื่อนออนไลน์

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า มอบนโยบายให้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและสกัดกั้นยาผิดกฎหมายและยาปลอม รวมทั้งยาควบคุมพิเศษ และยาอันตราย ซึ่งไม่มีการขออนุญาตนำเข้าตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้ยาเหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคในไทย พบว่าการซื้อยาผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมสูงมาก เนื่องจากสั่งซื้อสะดวก สามารถจัดหายาบางประเภทที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด อย่างไรก็ตามกลับพบว่ายาที่ถูกส่งเข้ามายังไทยจำนวนมากเป็นยาผิดกฎหมาย โดยเป็นยาที่องค์การอาหารและยา(อย.)ไม่ได้ให้การรับรอง หรือได้เพิกถอนตำหรับยาไปแล้วเนื่องจากพบว่าการใช้ยาชนิดดังกล่าวนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และในหลายกรณียังพบว่ามีการนำยาบางชนิดไปใช้งานผิดประเภท

นายกฤษฎากล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 -16 ตุลาคม 2561 ท กรมศุลกากรภายใต้การอำนวยการของ นายสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร นายชัยฤทธิ์ แพทย์สมาน ผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข้อมูลการข่าวทางศุลกากร นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษในการตรวจค้นพัสดุไปรษณีย์ และพัสดุเร่งด่วน ที่ส่งมาจากต้นทางประเทศที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งกำชับให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายกฤษฎากล่าวว่า จากปฏิบัติการอย่างเข้มงวดดังกล่าว กรมศุลกากรสามารถตรวจพบยาที่ถูกลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก มีทั้งยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศ และสารระเหยควบคุม อาทิ ยาทำแท้งชนิดเม็ด ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศที่รู้จักติดปากกันทั่วไปในนามไวอากร้า โดยพบมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ Sildenafil Tadalafil และ Verdenafil และยาอีทิโซแลม (Etizolam) อันเป็นยานอนหลับชนิดออกฤทธิ์รุนแรง ละลายได้เฉพาะในแอลกอฮอล์เท่านั้น ซึ่งบุคคลทั่วไปมักรู้จักยานี้ในชื่อ “Supersleep” หรือเรียกในภาษาไทยว่า “ยาเสียหนุ่ม” หรือ “ยาเสียสาว” โดยยาชนิดนี้นั้นมักถูกนำมาใช้แทนยาอี

นายกฤษฎากล่าวว่า นอกจากนั้นยังตรวจพบสารระเหยชนิด Isopropyl Nitrite ซึ่งเป็นสารระเหยควบคุมตาม พ.ร.ก. ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2553 ถูกบรรจุมาในขวดขนาดเล็กติดฉลากว่าเป็นน้ำหอมปรับอากาศ (Room Odoriser) โดยสารระเหยชนิดนี้จะทำให้ผู้สูดดมมีอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมา หัวใจเต้นแรง และมีความต้องการทางเพศอย่างรุนแรง ซึ่งในกลุ่มผู้ใช้มักเรียกสารชนิดนี้ว่าปอปเปอร์ (Popper) ทั้งนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการตรวจพบยา Modafinil และ Armodafinil ถูกสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยมีปลายทางที่สำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งยาชนิดนี้เป็นยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมหลับ ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของสารเคมีในสมอง อันจะช่วยทำให้ผู้ที่ได้รับยามีความตื่นตัว ปัจจุบันวัยรุ่นต่างชาติจำนวนมากนิยมนำมาใช้เป็น “ยาคึก” ในงานปาร์ตี้แทนยาเสพติด และอยู่ในกลุ่มยาที่ใช้ทดแทนแอมเฟตามีนหรือยาบ้า

Advertisement

นายกฤษฎากล่าวว่า ปัจจุบันยาผิดกฎหมายจำนวนมากสามารถหาซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เพจเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม หรือเว็บไซต์เถื่อน (Dark web) โดยจากปฏิบัติการในช่วง 8 วันที่ผ่านมา กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดยาผิดกฎหมายได้กว่า 50 คดี รวมมูลค่าของทั้งหมดประมาณ 500,000 บาท

นายกฤษฎากล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการสกัดกั้นและกวาดล้างยาผิดกฎหมายในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการแพนเจีย (Operation Pangea) โดยปฏิบัติการดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การตำรวจสากล (Interpol) และองค์การศุลกากรโลก (WCO) มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการจำหน่ายยาปลอมและยาผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์ และเป็นปฏิบัติการที่ดำเนินการพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก

“กรมศุลกากรจะนำผลการดำเนินงานจากปฏิบัติการในครั้งนี้ไปพัฒนามาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ายาทางไปรษณีย์และพัสดุเร่งด่วน รวมทั้งนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการการควบคุมทางศุลกากรสำหรับไปรษณีย์ระหว่างประเทศในด้านอื่น ๆ ต่อไป”นายกฤษฎา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image