ค่าเงินบาทแกว่งแคบ จับตาปัจจัยต่างประเทศส่งผลแข็งค่าระยะสั้น 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 22 ตุลาคม เปิดที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจาก 32.61บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ก่อน สัปดาห์นี้ มองว่าความผันผวนของหุ้นสหรัฐจะเป็นปัจจัยที่ตลาดจะให้ความสำคัญมากที่สุดเพราะเป็นช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ มีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนไหวตามข่าวการเมือง ซึ่งถ้าตลาดปิดรับความเสี่ยง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็มีโอกาสแข็งค่าได้ ขณะที่ความเสี่ยงคือช่วงท้ายสัปดาห์ ที่ความสนใจจะถูกเบนมาที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ถ้าอีซีบีส่งสัญญาณว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย หรือมีข้อสรุปทางการเมืองที่ดีขึ้น อาจส่งผลบวกกับเงินยูโร สวนทางกับดอลลาร์สหรัฐที่อยู่บนความคาดหวังของการเติบโตที่สูง จึงต้องระวังการปรับฐาน ถ้าตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลง

นายจิติพล กล่าวว่า ค่าเงินบาท ในช่วงสัปดาห์นี้คาดว่าจะแกว่งตัวแคบเช่นเดียวกับในช่วงสัปดาห์ก่อน เนื่องจากถูกคานด้วยทิศทางของเงินหยวนที่อ่อนกับเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่า อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจเชื่อว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงต่อได้อีกทั้งจากการเกินดุลการค้า และเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าหลังการเลือกตั้ง คาดกรอบเงินบาทระหว่างวัน 32.53-32.63บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์ 32.25-32.75บาทจ่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ด้วยแรงหนุนจากรายงานการประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งระบุว่าผู้ดำเนินนโยบายเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความไม่พอใจในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินยูโรเผชิญแรงกดดันหลังคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่าร่างงบประมาณประชานิยมของอิตาลีละเมิดกฏเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ส่วนเงินปอนด์ยังผันผวนหลังข้อตกลงเบรกซิทขาดความชัดเจน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่การสื่อสารด้านการดำเนินนโยบายของอีซีบีในระยะถัดไปท่ามกลางแรงกดดันที่สูงขึ้นในตลาดพันธบัตรอิตาลี ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีกับเยอรมนีแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี จากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในกลุ่มยูโรโซน นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียย่ำแย่ลง รวมทั้งการเจรจาเบรกซิท และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ ในภาพรวม เราคาดว่าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวได้จำกัด หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังทรงตัวที่ระดับสูง

Advertisement

“ปัจจัยภายในประเทศ ข้อมูลการค้าเดือนกันยายนบ่งชี้ว่ายอดส่งออกติดลบ 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งสะท้อนเศรษฐกิจของคู่ค้าเริ่มประสบปัญหา โดยการส่งออกไปจีนลดลง 14.1% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.9% ส่งผลให้ไทยมียอดเกินดุลการค้า 0.49 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกไทยปี 2562 จะเผชิญความท้าทายทั้งเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมัน และสงครามการค้า โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ 8% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวได้ 9% โดยกรุงศรีฯ ยังคงมองว่าทางการมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปีนี้ ตามสัญญาณความต่อเนื่องของแรงส่งเชิงบวกของอุปสงค์ภายในประเทศ” กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image