‘ดีอี’ ย้ำ ‘ไทยแอร์เอเชีย’ พัฒนาระบบจดจำใบหน้าต้องปลอดภัยสูง-ไม่ละเมิดกม.

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงานสัมมนา Digital Era for Thailand: Brat the limits ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ณ โรงแรมดิเอมเมอรัล ถนนรัชดาภิเษก ว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยหลายประเทศทั่วโลกเริ่มขับเคลื่อนด้านดิจิทัลในหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน, ดิจิทัลไอดี และเทคโนโลยี face-recognition (เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า) ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และพบว่า มีการใช้งานเทคโนโลยี face-recognition ขึ้นจริงแล้วในสนามบิน จึงมองว่า เป็นระบบที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจะสามารถทำให้การรับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สายการบินไทย แอร์เอเชีย ได้เข้าหารือเพื่อขอทดลองระบบการจดจำใบหน้ากับสายการบินของตนเองในเส้นทางการบินภายในประเทศ ซึ่งจะนำร่องทดลองระบบในสนามบินขนาดเล็กก่อน เช่น สนามบินกระบี่ โดยจะใช้งานตั้งแต่การเช็คอิน จนถึงการขึ้นเครื่องบิน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งทางกระทรวงดีอี ไม่ได้ขัดข้องการขอทดลองระบบของสายการบินไทยแอร์เอเชีย แต่ได้กำชับว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นต้องมีความปลอดภัยสูง ไม่ละเมิดต่อกฎหมายในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุลคล โดยหากพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประกาศใช้ จะเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดในการใช้ระบบดังกล่าวด้วย และนอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้สายการบินชี้แจงขอบเขตการใช้งานข้อมูลให้ชัดเจนด้วย

“ระบบดังกล่าว ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่า จะใช้งานหรือไม่ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสามารถเลือกใช้ช่องทางปกติในการเช็คอินได้ และการเก็บข้อมูลของระบบดังกล่าว ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ให้ข้อมูลด้วย โดยการนำร่องใช้งานระบบจดจำใบหน้าเกี่ยวข้องกับกระทรวงดีอีในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับดิจิทัล มาตรฐานของระบบ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล กับสายการบินที่ต้องการใช้งานระบบ ซึ่งนอกจากกระทรวงดีอี สายการบินต้องหารือ และขออนุญาตหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ท่าอากาศยาน และด่านตรวจคนเข้าเมือง และเท่าที่ทราบขณะนี้ สายการบินอยู่ในช่วงการตรวจสอบระบบ” นายพิเชฐ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ยังได้เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้บริหารของบริษัท แมนเดียนท์ ที่อยู่ภายใต้บริษัท ไฟร์อาย จำกัด ผู้ให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยและเทคโนโลยีต่อต้านมัลแวร์ชื่อดัง ซึ่งก่อตั้งโดยสำนีกงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2561 โดยแจ้งว่า ได้ตรวจพบมัลแวร์ที่ชื่อ ss.exc หรือที่รู้จักกันในชื่อ CETTRA ซึ่งใช้งานโดยกลุ่มนักเจาะระบบ (แฮกเกอร์) ชื่อ เอพีที 20 จากประเทศจีน เพื่อโจมตีเว็บเซิรฟเวอร์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ว่า กรณีดังกล่าว ทางกระทรวงดีอี มีหน่วยงานภายใต้สังกัด คือ ไทยเซิร์ตในการรับมือการถูกจู่โจมทางไซเบอร์ ซึ่งก็ได้รับสัญญาณมาเช่นเดียวกัน โดยจากแหล่งไหนนั้นไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า มีไฟล์ที่ชื่อว่า ss.exc ซึ่งจากการวิเคราะห์อาจจะเป็นมัลแวร์ แต่คงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบสักระยะหนึ่ง ว่า ไฟล์ดังกล่าวเป็นมัลแวร์จริงหรือไม่ และมัลแวร์ดังกล่าวเริ่มเคลื่อนไหวการทำงานไปแล้วแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ขณะนี้ ได้ตัดช่องทางที่เชื่อมไปยัง ไฟล์ที่ชื่อว่า ss.exc เรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการลุกลาม ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่า ปัญหาลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ประเทศสิงคโปร์ ก็ถูกโจมตีระบบในช่องทางสาธารณสุขเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image