ตร.ขึงพ.ร.บ.คอมฯเอาผิด “ประเทศกูมี” นำเข้าข้อมูลเท็จ ดูโยง 6 ตุลา ชี้ทำลายค.มั่นคง-เศรษฐกิจ “อนาคตใหม่” โผล่ยกย่อง!!

จากกรณี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ กล่าวถึงเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ว่ามีลักษณะหมิ่นเหม่ และอาจขัดต่อคำสั่ง คสช. หรือไม่ ก่อนจะมอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหาตามที่ได้นำเสนอข่าวไปนั้น

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ตุลาคม ที่บก.ปอท. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงกรณีการแพร่คลิปเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฏในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง จากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา

“หากพิจารณาแล้วเข้าความผิดตามมาตรา 14(2) ในเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษก็จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว
รองโฆษก ปอท.กล่าวว่า แม้กลุ่มศิลปิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใดนั้น หากมีการดำเนินคดี ก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะให้การว่าเขารู้สึกอย่างไร หรือข้อเท็จจริงในส่วนของเขาเป็นอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานว่าผิดหรือไม่

สำหรับภาพที่ปรากฎในมิวสิกวิดีโอในบางส่วนที่มีการฟาดหุ่นซึ่งแขวนอยู่บนต้นไม้ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี2519 ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงโดยรัฐบาลในขณะนั้นจะเข้าข่ายเรื่องการก่อความรุนแรงหรือไม่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากภาพรวม อาจเข้าข่ายความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14(5) ซึ่งจะมีโทษอัตราเดียวกันกับผู้โพสต์ คือ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ได้เช่นกัน โดยหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวดก็มีจำนวนผู้กระทำผิดที่ลดลง

Advertisement

มีรายงานแจ้งว่า มิวสิควิดีโอเพลงดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม มียอดวิวเกือบหนึ่งล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นมีบัญชีผู้ใช้ที่ใช้ชื่อว่า “พรรคอนาคตใหม่” ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “ขอคารวะในจิตวิญญาณนักสู้….”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image