‘รีมิกซ์’ วาทะเด็ด 10 บุคคล จากหน้า ‘ประชาชื่น’

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้พบปะและพูดคุยกับบุคคลเพื่อตีพิมพ์ในหน้าเสาร์ประชาชื่น และอาทิตย์สุขสรรค์เป็นจำนวนมาก

ผู้คนมากมายทั้งที่เป็นกระแส และไม่เป็นกระแสถูกจับจองตัวมานั่งบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ เบื้องลึกเบื้องหลังของแต่ละคน แต่ละเหตุการณ์ ตลอดจนแง่มุมความคิดต่างๆ ที่พวกเขาและเธอได้มอบไว้ให้กับสังคม

ต่อไปนี้คือ 10 บุคคลที่เราคัดสรรจากบุคคลจำนวนมากที่ได้พูดคุยตลอดทั้งปี คัดสรรวาทะเด็ดจากบางช่วงบางตอนของบทสัมภาษณ์ของเขาและเธอที่ยาวเหยียด

เป็น 10 บุคคลและวาทะที่ช่วยสะท้อนภาพรวมตลอดปีที่ผ่านมา

Advertisement

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
วัดสร้อยทอง

“ต้องยอมรับว่าโดยพื้นฐาน ความเชื่อจริงๆ ของเรา เราไม่ได้เป็นพุทธโดยบริสุทธิ์สมบูรณ์ ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของพุทธ เราก็รับมาจากที่อื่น โดยพื้นเพพื้นที่ที่อยู่ของเราก็มีลัทธิความเชื่อหลายอย่าง เช่น นับถือผี พราหมณ์ มีอิทธิพลของศาสนาอื่นๆ ด้วย เราถือ 3 ศาสนาในศาสนาเดียวกัน ถามว่าอะไรคือศาสนาประจำชาติของเราขณะนี้ ไม่ใช่ศาสนาพุทธ แต่คือ “ศาสนาผี พราหมณ์ พุทธ” นี่คือศาสนาประจำชาติของเรา

“ถ้ายอมรับตรงนี้ก็จะเข้าใจปรากฏการณ์ ความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องโชคลาภ ของขลัง ในวงการพระพุทธศาสนา ซึ่งทั้งหมดมาจากพื้นเพความเชื่อของ 3 ศาสนา ที่เป็นสิ่งที่ครอบงำความคิดของสังคมอยู่ และตัวพระพุทธศาสนาเองก็โอนเอนไปตามความเชื่อเหล่านี้ด้วย อย่างพระที่แต่ก่อนเป็นชาวบ้าน ก็มีความเชื่อนับถือผี พราหมณ์มาก่อน ซึ่งพอเข้ามาบวชแล้วไม่ได้ละทิ้งความเชื่อเดิม จึงเอาความเชื่อแปลกปลอมอันนั้นเข้ามาอยู่ในศาสนาพุทธด้วยจนกลายเป็นพิธีกรรมต่างๆ นานา มากมาย ซึ่งต่างจากสมัยพุทธกาลโดยสิ้นเชิง สมัยนั้นพระซึ่งแต่ก่อนเป็นพราหมณ์ เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาต้องละทิ้งลัทธิความเชื่อเดิมไปทั้งหมดให้ได้ เพราะถ้าไม่..มันจะขัดแย้งกันทันที

“พระก็เห็นประโยชน์จากการใช้ความเชื่อ หรือความศรัทธา พูดง่าย คือพระเห็นจุดด้อย ของความศรัทธาของชาวบ้านก็เอา ตรงนี้มาเป็นจุดขาย พระรู้ว่าเมื่อตอบสนองศรัทธาที่มันไม่ถูกต้องของชาวบ้าน พระจะได้ไรบ้าง..ทั้งที่ไม่จำเป็นเลยเพราะพระพุทธศาสนามีวิธีการมากมาย โดยไม่ต้องประพฤติหลอกลวงคนอื่น ไม่ต้องอาศัยกับความศักดิ์สิทธิ์หรือหากินกับไสยศาสตร์ ศาสนาพุทธก็อยู่ได้ ชาวบ้านเขาพร้อมจะศรัทธาอยู่แล้ว”

หมายเหตุ : พระรุ่นใหม่ที่ให้ข้อคิด หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาที่ไปกับสังคมในยุคปัจจุบัน

ชลธิชา แจ้งเร็ว

‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว
นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่

“จริงๆ ก็เผื่อใจ เพราะว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่มันไม่ปกติ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรื่องข้อกฎหมายที่เราเคยคิดว่ามันจะคุ้มครองเรา หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เราเคยเชื่อว่าเขามีหน้าที่ในการดูแลประชาชน แต่หลังรัฐประหาร ตลอดเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เราคิด ไม่ได้เป็นความจริงเสมอไปในสถานการณ์แบบนี้ เมื่อก่อนเราเคยฝันว่าอยากเป็นทหารเหมือนพ่อ (ยิ้ม) ตอนไปรับทุนที่กรมพ่อก็จะเจอทหารหลายคนหล่อแต่งตัวดี (หัวเราะ) มาหลังๆ เราเริ่มผิดหวังกับอะไรหลายอย่าง

“ความเป็นผู้หญิงในการเคลื่อนไหวสร้างความลำบากไหม สร้าง…สร้างตรงที่เพื่อนเป็นห่วง (หัวเราะ) เข้าใจมันนะ มองว่าต่อให้เราอยู่ในเพศในวัยไหน ไม่เป็นอุปสวรรคหรอก ถ้าเราอยากทำ แค่ปัจจัยเดียว คุณยึดหลักอะไรที่จะทำตรงนี้ เป้าหมายคืออะไร คุณฝันถึงอะไร และคุณยอมรับความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ไหม ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว เรามีต้นทุนที่ต้องเสียไปตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่เราเริ่มเคลื่อนไหวเสียเพื่อนที่ความคิดต่างกันไปตั้งกี่คน ไม่สามารถคุยกับเราได้เลย”

หมายเหตุ : 1 ใน 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับ

รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ โรม
นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่

“ผมยอมรับ นักศึกษามีสถานะที่ทำให้คนรู้สึกว่าเขาต้องจับตามองหรือให้คุณค่าบางอย่าง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงจากอดีตที่ขบวนการนักศึกษาทำไว้ด้วย และวัฒนธรรมแบบคนไทยที่รู้สึกว่านักศึกษาเป็นปัญญาชน ทำให้นักศึกษามีเกราะคุ้มกันบางอย่าง ตอนที่ผมถูกทหารเรียก มีประโยคหนึ่งที่เขาพูดกับผมว่า “เหตุการณ์เดือนตุลาเป็นเพียงนิทาน” แสดงว่าเขาเองก็กังวลว่ามันจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์เดือนตุลาเหมือนกัน เหตุการณ์เดือนตุลาเป็นการปะทะระหว่างทหารกับนักศึกษา และจบลงที่ทหารไม่มีทางถูกมองในภาพลักษณ์ที่ดูดีอีกต่อไป และเขาพยายามบอกเราว่านั่นเป็นเพียงนิทาน แต่การที่เขายกประเด็นนี้ขึ้นมา แสดงว่าเขาก็รู้สึกอะไรบางอย่างกับสิ่งที่นักศึกษาในอดีตทำไว้

“คนไม่ค่อยเอานักศึกษาไปผูกโยงกับอย่างอื่นแม้จะมีความพยายามอยู่บ้างอย่างเช่นที่ผมโดนหาว่าไปรับเงินต่างชาติเอาผมไปโยงกับเสื้อแดงทักษิณแต่สุดท้ายก็ยังไม่มีผลออกมาเป็นรูปธรรมขนาดทำให้คนเชื่อว่าผมเป็นอย่างนั้นจริงๆ

“ถามว่าคุ้มไหมที่ใช้ตัวเองเป็นกระสอบทราย? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน (ยิ้ม) ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะคุ้มไหม ทุกวันนี้ผมสูญเสียอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง อาจมีปัญหากับที่บ้าน เพราะเขาก็ไม่ได้เห็นด้วย ผมไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เราไม่รู้ว่าแต่ละคนที่เดินสวนกันเขาคิดอะไรอยู่ สุดท้ายเราอาจเจ็บตัวฟรีก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องผลักดันสังคมที่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นความจริง และผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่จะต้องทำหน้าที่นั้น ผมเลยรู้สึกว่าการออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ ส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ”

หมายเหตุ : 1 ใน 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับ

ณัฐนันท์ วรินทรเวช

‘ไนซ์’ ณัฐนันท์ วรินทรเวช
เลขาธิการกลุ่ม ?การศึกษาเพื่อความเป็นไท?

“เสรีภาพเป็นสิ่งที่ควรจะต้องมี ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ไม่สามารถบอกให้ประชาชนเงียบไปก่อนได้ ไม่สามารถปิดปากประชาชนได้ เพราะการปิดปากไม่ใช่วิธีการลดความขัดแย้งแต่เหมือนคุณกดทับอะไรสักอย่างไว้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคุณมีลูกโป่งที่มีอากาศอยู่ข้างในแล้วคุณบีบมันไว้ มันก็ยุบลงไปได้แค่พักเดียวหลังจากนั้นอาจจะระเบิดออกมาก็ได้

“การที่จะปรองดองให้ได้ ต้องเรียนรู้ความเห็นที่แตกต่าง ต้องเรียนรู้ที่จะถกด้วยเหตุผล ไม่ใช้เฮทสปีช (Hate Speech) หรือเลี่ยงการใช้ตรรกวิบัติให้ได้มากที่สุด เราต้องใช้ความมีเหตุผลในการเผชิญหน้ากัน ไม่ใช่ความรุนแรงหรือวาทกรรมกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคนเลวไม่ควรจะรับฟัง ดังนั้น ความสงบที่เกิดมาจากการบังคับให้ทุกคนเงียบสุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นภายหลัง

“ต้องเปิดให้ประชาชนระบายสิ่งที่เขาคิดออกมาต้องเปิดให้มีการถกปัญหาในปัจจุบันอย่างจริงจังถ้าอยากจัดเสวนาก็ไม่ควรห้ามไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเขาไม่ควรห้ามเพราะงานเสวนาเป็นสื่อกลางอย่างหนึ่งที่ดีมากทำให้เราได้ข้อสรุปของปัญหานั้น เพราะเป็นการคุยกันค่อนข้างจริงจัง ส่วนตัวไปงานเสวนาบ่อย เพราะชอบบรรยากาศ”

หมายเหตุ : นักเรียนผู้ตอบคำถามอย่างฉะฉาน ชัดเจน หนักแน่น หากเธอก็ถูกเชิญให้ออกจากห้องส่งออกอากาศด้วยเหตุผลว่า “เชิญมาผิดคน”

นวลพรรณ ล่ำซำ

นวลพรรณ ล่ำซำ
ผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดสู้ศึกฟุตบอลโลก เเละประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เอฟซี

“ความเป็นผู้หญิงในยุคนี้ คิดว่ามีทั้งข้อได้เปรียบเเละข้อเสียเปรียบ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะพยายามเเค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคกีฬา หรืออะไรก็ตาม พอขึ้นมาอยู่บนเวทีแห่งการแข่งขัน จะไม่มีคำว่าหญิงและชาย ทุกคนล้วนอยู่บนเกมของการแข่งขัน ส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีการแข่งขัน ทุกฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้กันอยู่เเล้ว อย่างบทบาทหน้าที่ในวงการประกันภัย ซึ่งผู้หญิงรับบทบาทด้านนี้กันน้อย แต่การแข่งขันสูงมาก เเข่งกันสุดตัว ไม่ใช่ว่าเป็นผู้หญิงแล้วจะได้แต้มมากกว่าคนอื่นๆ หรือในการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกก็เหมือนกัน เเม้เราจะเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวใน 18 สโมสร เเต่เชื่อว่าไม่มีทีมไหนที่จะยอมแพ้เพราะความเป็นผู้หญิง

“ในยุคนี้ ความเสมอภาคของหญิงและชายในประเทศไทยนั้นมีมากขึ้น แต่อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ไม่ใช่ว่าเป็นผู้หญิงเเล้วจะได้เปรียบในทุกๆ อย่าง ไม่ใช่เเน่นอน อยากบอกว่า เเม้ในภาคธุรกิจผู้หญิงจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีอีกภาคส่วนหนึ่งที่เราไม่ได้เกี่ยวข้อง เเต่ก็มองอยู่เสมอนั่นก็คือภาคการเมือง เราเห็นว่าผู้หญิงยังมีบทบาทค่อนข้างน้อยอยู่ ไม่ได้มองในมุมของตัวเอง แต่มองสำหรับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต้องการจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง เราควรเปิดกว้างและเปิดโอกาสให้มากขึ้น เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงร่วมบริหารงานด้านการเมืองจะทำให้เกิดมุมมองที่เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นบนเวทีต่างๆ เพราะบางครั้งมุมมองของผู้หญิงก็แตกต่างจากผู้ชาย”

หมายเหตุ : ผู้จัดการทีมหญิงที่สร้างความสุขให้กับแฟนบอลไทยมากที่สุด

มนตรี ฉันทะยิ่งยง

มนตรี ฉันทะยิ่งยง
BikeXenger ให้บริการรับส่งสิ่งของและพัสดุภัณฑ์ด้วยจักรยาน

“ขี่จักรยานแต่เด็กแล้ว แต่ขี่เป็นจริงเป็นจังตอนอายุ 30 ปี ขึ้นไปแล้ว ขี่ไปทำงาน ตอนนั้นไม่ได้สนใจอะไร สนใจแค่ว่าเราจะเดินทางยังไงให้ไปได้เร็วคล่องแคล่ว ไม่ต้องรอรถ ไม่ต้องรอใคร ขี่จักรยานสามารถควบคุมเวลาได้ ได้ทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจ ระยะทางจากบ้านไปทำงาน 4 กิโล ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

“ถามว่ามีอุปสรรคเยอะไหม ไม่มีอุปสรรคเลย (หัวเราะ) อุปสรรคสำคัญคือการเริ่มต้น การเปลี่ยนแปลงตนเอง จากที่เราเคยใช้รถสาธารณะ ขับรถ ขี่มอเตอร์ไซค์เอง มาขี่จักรยาน ยอมรับเลยว่าตอนแรกมันเขิน ไม่เคยทำอะไรอย่างนี้ แล้วมาคิดว่าทำไมเราต้องเขินในเมื่อเราทำเพื่อตัวเอง ไม่ต้องเขิน ขี่เลย

“แรกๆ ก็เขินนิดหน่อย เพราะเพื่อนร่วมงานสงสัยว่าทำไมขี่จักรยานมาทำงาน ผมก็บอกว่าอยากไปมาสะดวกรวดเร็ว ไม่อยากขี่มอเตอร์ไซค์เพราะมีแต่อุบัติเหตุ และไม่ต้องโดนกฎหมายบังคับ จักรยานกฎหมายมันน้อย ทุกอย่างอยู่ที่เรา ผมไปไหนมาไหนก็ด้วยจักรยาน เลยซื้อรถจักรยานแบบพับ พาไปด้วยทุกที่”

หมายเหตุ : ธุรกิจส่งสิ่งของและพัสดุภัณฑ์รูปแบบใหม่ในยุคจักรยานมาแรง

นัฏฐกร ปาระชัย-โจ วรรณพิณ

นัฏฐกร ปาระชัย-โจ วรรณพิณ
ร้านขายหนังสือออนไลน์ Readery

โจ – พวกเราไม่ได้ตั้งโจทย์จากธุรกิจหรือว่าการขายเป็นตัวนำ ไม่ค่อยได้คิด ถ้าถามว่าคนอ่านหนังสือน้อยลงไหม อันนี้เมื่อก่อนก็เคยได้ยิน แต่พอทำมาเรื่อยๆ มันมีคนอ่าน แต่หนังสือกับคนอ่านไม่ได้เจอกันง่ายๆ โอกาสที่จะเจอไม่ง่าย เหมือนเราชอบหนังสือสไตล์นี้ แต่เดินเข้าร้านหนังสือก็อาจไม่เจอเล่มนี้ก็ได้ หน้าที่ของเราที่เรามองตัวเองคือเราเหมือนแม่สื่อ ทำยังไงให้หนังสือกับคนอ่านเจอกันให้ได้

นัฏฐกร – เราตอบไม่ได้ว่าคนอ่านน้อยลงไหม แต่รู้สึกจากสองปีที่ทำร้านหนังสือออนไลน์มา ที่พบชัดเจนที่สุดคือร้านหนังสือกับคนอ่าน ปริมาณไม่สัมพันธ์กัน ด้วยความที่แต่เดิมถ้ามองธุรกิจร้านหนังสือ อาจเป็นร้านที่อยู่ตามที่ต่างๆ แต่พอทำร้านออนไลน์ทำให้เจอคนอ่านที่อยู่อีกหลายซอกหลืบในไทยที่ยังไม่เจอร้านหนังสือ หรือถ้าเจอร้านแต่ก็ไม่มีหนังสือที่ต้องการ อย่างถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะมีร้านใหญ่ๆ มีหมวดหนังสืออยู่ในร้าน แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มที่คนอ่านต้องการจริงๆ แล้วเราเริ่มด้วยงานวรรณกรรมหรือฟิคชั่น ซึ่งร้านใหญ่ๆ มันเริ่มหดตัวลงไป เราเลยเจอช่องที่ว่าคนอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่เจอหนังสือที่อยากได้ในร้าน เขาแฮปปี้มากที่มาเจอเรา คือการมีขึ้นของเรา มันทำให้หนังสือกลุ่มค่อนข้างเฉพาะมันไปถึงมือคนอ่านได้ง่ายขึ้น

โจ – ถ้าไม่ชอบคงทำไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะร้านออนไลน์ คนถามเยอะว่าเหมือนเปิดกันง่าย แนะนำเลยว่าคนจะเปิดร้านออนไลน์ต้องมี 2 สิ่ง คือ 1.ความชอบระดับบ้าคลั่ง 2.ความรู้ สมมุติให้ไปเปิดร้านออนไลน์แต่ขายรองเท้าแตะ เราก็ทำไม่ได้นะ มันไม่ได้ไง แต่ทำสิ่งที่ชอบมันจะมีความอยากพูดอยากบอกตลอดเวลา ส่วนเรื่องความรู้ ปัญหาของร้านออนไลน์ดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นัฏฐกร – สิ่งสำคัญของร้านออนไลน์อีกอย่างหนึ่งที่คนทำร้านออนไลน์ทุกคนน่าจะรู้ดีคือ ทำยังไงที่จะสนองความต้องการของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด เรามองในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ซื้อของออนไลน์เหมือนกัน ก่อนทำร้านหนังสือเราก็ซื้อหนังสือออนไลน์มาก่อน เอาตรงนั้นมาปรับใช้กับเรา

หมายเหตุ : ร้านหนังสือออนไลน์ที่สนองตอบรูปแบบวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ตรงกลุ่ม ตรงเป้า และทำให้ “การอ่านเป็นเรื่องเซ็กซี่”

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

“การส่งเสริมหลักสูตรท้องถิ่น ทำเป็นบางที่ และใช้บ้างไม่ใช้บ้าง เลยไม่ค่อยได้ผล บางครั้งครูมาจากต่างถิ่น การรับรู้เลยมีน้อย การพัฒนาไม่เกิด ปัจจุบันสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์มีที่เดียวคือโรงเรียน ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ก็มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านภูมิปัญญา รวมถึงวัด ซึ่งต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน จะทำอย่างไรให้บ้าน วัด โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งหรือถูกรวมเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

“แต่วัดกับชาวบ้าน รวมถึงกรมศิลปากรยังขัดแย้งกันในประเด็นโบราณสถานอยู่ ผมเลยจัดกิจกรรมขึ้นมา 2 ครั้ง เพื่อให้คนเห็นคุณค่าของโบราณสถานว่ามีหลายมิติ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และศาสนา แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คืออยากแสดงสัญลักษณ์เชิงสังคมว่า จริงๆ แล้ววัดคือพื้นที่ของการเรียนรู้ เรามีหน้าที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส การจัดต้องมีพระเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่แค่คนทั่วไป ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเราไม่ได้ตั้งธง ลบหลู่ศาสนา แต่เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง”

หมายเหตุ : นักวิชาการหนุ่มผู้มีบทบาทอย่างสูงในการจัดงานเสวนาสู่สาธารณะ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เรื่องชนบทไทย ก็เคยมีดีเบตกันในประเด็นนี้ว่าไอ้ภาพสวยงาม พึ่งพาอาศัยกัน เป็นอิสระจากกลไกตลาด มันเคยมีจริงๆ มั้ย เพิ่งเปลี่ยนไม่นานมานี้ หรือแท้จริงแล้วพอคนหลุดจากการเป็นทาสเป็นไพร่ก็เข้าสู่ระบบตลาดเลย เราอาจจะมีแค่ 2 แบบคือ 1.ชนบทแบบที่กดขี่โดยศักดินา กับ 2.ชนบทที่ถูกกดขี่โดยตลาด อาจจะเป็นภาพแบบนั้น เราไม่เคยมีภาพที่สวยงาม ไม่เคยมีชนบทที่เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งกลไกตลาดอะไรเลย ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเราไม่เคยมีเลยมากกว่า ส่วนภาพอย่างมนต์รักลูกทุ่ง แสนแสบ ก็ล้วนแต่เกิดขึ้นจากชนชั้นกลางในเมืองที่เขาชอบอยากเห็นแบบนั้น เหมือนเป็นความรู้สึกที่ทำให้เขาปลอดภัย เป็นวิธีคิดว่ามีพื้นที่ที่เป็นอิสระจากการกดขี่ใดๆ มีที่สวยงามให้เขาไปดู เหมือนเป็นสวนสัตว์

“ภาพแบบสวยงาม อิสระก็ล้วนแล้วแต่ชนชั้นกลางในเมืองสร้างขึ้นมา เหมือนสร้างหนัง ก็เลือกมุมดีๆ ความรักดีๆ ชีวิตชิคๆ ซึ่งจริงๆ แล้วมนุษย์อาจจะไม่เคยมีชีวิตแบบนั้นเลย หรือเลือกแค่บางมุม อย่างเรื่อง “คิดถึงวิทยา” เราก็จะเห็นแต่ภาพครูที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ไปอยู่ต่างจังหวัด สอนเด็กด้วยอุดมการณ์เต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่ได้มาถ่ายทอดชีวิตครูที่มีหนี้เยอะแยะมหาศาล เงินเดือนก็น้อย แบกรับความกดดันโน่นนี่นั่นมากมาย

“วิธีการมองสังคม เวลาถ่ายทอดมาเป็นป๊อปคัลเจอร์ เป็นการเลือกมุมอยู่แล้ว ที่จะให้ผู้ซื้อรู้สึกสบายใจ เหมือนหนังอินเดียที่ต้องแฮปปี้เอ็นดิ้งทุกเรื่อง

หมายเหตุ : ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ให้ความเห็นตลอดจนวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

บดินทร์ รัศมีเทศ

บดินทร์ รัศมีเทศ
ว่าที่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“การที่ผมต่อสู้ผมต่อสู้เพื่อสิทธิโดยธรรม ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ไม่ได้ต่อสู้เพื่อที่จะเป็นอธิการบดี เพราะผมได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีแล้ว ที่สำคัญคือทั้ง 8 คนที่ลงแข่งด้วยกันก็ไม่มีใครร้องเรียน หากผมรู้ว่าตัวเองมีประวัติผมจะกล้าส่งตัวเองลงรับสมัครเป็นอธิการบดีเพื่อทำงานหรือ ที่สำคัญคือการที่สภาใหม่ ใช้มติที่ล้มผม คือ ไม่มีจริยธรรมและคุณธรรม มีมลทินมัวหมอง ถ้าเกิดผมยอมผมจะถูกตราหน้ากลายเป็นคนที่ไม่ดี เป็นคนไร้จริยธรรม แล้วผมจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อผมไม่ได้เป็นคนแบบนั้น ผมจะไม่ต่อสู้ได้อย่างไรทั้งที่มีเอกสารจากผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลวินิจฉัยแล้วว่าได้ยุติการพิจารณาแล้ว ผมจะยอมให้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิดได้อย่างนั้นหรือ?

“ทุกคนมีมรสุมมีคลื่นของชีวิตที่ซัดสาดเข้ามา แต่ถ้าเราเป็นนักสู้เราต้องฝ่าฟันมรสุมทุกลูกไปให้ได้ บทพิสูจน์อยู่ที่การกระทำ บางครั้งความคิดของเราไม่ได้เหมือนกับที่คนอื่นเขาคิด แต่การที่จะเป็นผู้นำเราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าทำไม่ได้ให้เป็นไปได้ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะคิด”

หมายเหตุ : หลังพลัดตกจากเจ็ตสกี และต้องลอยอยู่กลางทะเล 19 ชั่วโมง ที่สุดก็เอาชีวิตรอดมาได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image