คิดเห็นแชร์ : เปลี่ยนขยะล้นเมือง เป็นทรัพยากรล้นค่าด้วย Circular Economy

เมื่อ 50 ปีก่อน กอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์อินเทล สังเกตว่าพลังการประมวลผลคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าในทุก 2 ปี นั่นหมายความว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้นๆ จะกลายเป็นของตกรุ่นในไม่ช้า โดยพบว่าทุก 2-3 ปีมีคอมพิวเตอร์ ราว 30-40 ล้านเครื่องส่งไปพื้นที่ “สุสานขยะ” ที่เป็นเพียงบางส่วนจาก “ขยะ” ทั้งระบบที่เกิดจากการบริโภคของมนุษย์ทั่วโลกอย่างมากมาย

สำหรับประเทศไทยปริมาณขยะมูลฝอยทั้งสิ้นราว 27 ล้านตัน จำแนกได้ 4 ประเภท ขยะมูลฝอยอินทรีย์ (ร้อยละ 64) ขยะรีไซเคิล (ร้อยละ 30) ขยะอันตรายและขยะอื่นๆ (ร้อยละ 6)

ขยะอันตรายจะเป็นกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนที่น้อยแต่มีกระบวนการจัดการที่ยาก โดยส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศที่กฎหมายเข้มงวดน้อยกว่า มากกว่าจัดการอย่างปลอดภัยในประเทศ เช่น การบริจาคคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้แล้วจากประเทศพัฒนาแล้ว อาจไปสู่จุดจบในแหล่งคัดแยกขยะในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา

หนทางที่จะสามารถป้องกันการถาโถมเข้ามาคือการสร้างระบบจัดการรองรับที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น และสร้างความตระหนักกับผู้บริโภคควบคู่กันไป

Advertisement

ปัจจุบันในหลายประเทศมีแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจที่คำนึงถึงคุณค่าของวัตถุดิบ ทรัพยากร รวมทั้งสร้างของเสียน้อยที่สุด มาแทนที่เศรษฐกิจที่ทรัพยากรทางเดียว (Linear Economy) ที่เริ่มจากการผลิตสินค้า นำไปใช้หรือบริโภคแล้วทิ้ง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เสนอแนวคิด “Industry 2020 in the Circular Economy” ที่ครอบคลุมในทุกมิติ เรื่องการปรับกระบวนการผลิต การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค กฎหมาย และการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะใช้วัตถุดิบทองคำ เงิน และทองแดงที่ได้จากการรีไซเคิลชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาผลิตเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬาผู้ชนะการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิก 2020

ส่วนของไทย ภาครัฐมีแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ร่วมกับสถาบันพลาสติกและกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต ผลักดันมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายเองได้ทางชีวภาพ โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกซึ่งสังเคราะห์ขึ้นจากพืช (Bio-based) หรือ ปิโตรเคมี (Petro-based) ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายเองทางชีวภาพ กระตุ้นอุปสงค์การใช้ คาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการบริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพขึ้นร้อยละ 10

การนำวัตถุดิบเก่า สิ่งของ สินค้า หรือวัสดุต่างๆ นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดวงจรหมุนเวียนการ
ใช้งาน จะช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล ซึ่งกระบวนการของเศรษฐกิจหมุนเวียนจะรวมไปถึงการลดการใช้พลังงานด้วย ซึ่งขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน เช่น การทำขวดที่รีไซเคิลจากแก้วใช้แล้วสามารถปรับลดอุณหภูมิของเตาเผาลง ดังนั้น จึงมีความพยายามเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้มากขึ้น ขณะที่ไทยมีเพียงร้อยละ 21 เท่านั้น

ไม่มีเพียงมนุษย์ที่ใช้ชีวิตในโลกใบนี้ ยังมีชีวิตอีกนับไม่ถ้วน เราคงไม่อยากเห็นภาพวาฬที่ตายบริเวณอ่าวไทย เหมือนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการชันสูตรพบถุงพลาสติกภายในระบบทางเดินอาหารถึง 80 ใบ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านเริ่มต้นเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อน ทุกภาคต่างมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ภาคธุรกิจสามารถดึงดูดผู้บริโภคให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ ขณะที่ผู้บริโภคเองสามารถเรียกร้องให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงการดำเนินการ

นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ประชาชนไทยเริ่มตระหนักการบริโภคสินค้า จากรายงานของกรมควบคุม
มลพิษพบว่าอัตราการเกิดของขยะมูลฝอยเฉลี่ยลดลงจากปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 จำนวน 0.01 กก./คน/วัน แม้จะเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก

แต่หากทุกคนร่วมใจเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นแค่จุดเล็กๆ ในการคัดแยกขยะที่บ้าน เริ่มต้นสอนลูกหลานให้เกิดความตระหนัก การมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
ก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ยาก

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล 
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image