เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัจจัยเสี่ยงผุดรอบด้าน

ภาพประกอบ

หลังจากได้ผ่อนหายใจยาวๆ กันเล็กน้อยมาตั้งแต่ต้นปี เมื่อหลายๆ อย่างส่อแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะซบเซาอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดีถึงขนาดเมื่อเดือนเมษายนนี้นี่เองที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศว่า เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกกำลังอยู่ในภาวะสวิงขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 เรื่อยมา

แต่ยังไม่ทันไร อารมณ์ความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงไปอีกด้านในเดือนตุลาคม เมื่อ ไอเอ็มเอฟ เองปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งโลกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกมาถึงภาวะชะงักงัน

สิ้นเดือนตุลาคม นักวิชาการ นักวิเคราะห์น้อยใหญ่หันมองไปรอบทิศแล้วลงความเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ว่า ทุกทิศทาง ทุกตัวเลข สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สั่งสมมาจนครบถ้วนกระบวนความแล้วกำลังคายพิษสงส่งให้เศรษฐกิจเกือบทั่วทั้งโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงเรื่อยๆ แล้ว

เริ่มกันตั้งแต่ที่ประเทศจีน เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เรื่อยมา และมีทีท่าว่าจะแย่ลงไปมากกว่านี้ เว้นเสียแต่ว่าสหรัฐอเมริกากับจีนจะสามารถทำความตกลง “สันติภาพ” ยุติสงครามการค้าที่เกิดขึ้นและลุกลามออกไปเรื่อยๆ ในเวลานี้ได้

Advertisement

ข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศในเอเชียเริ่มได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามครั้งนี้แล้ว ที่เห็นชัดในยามนี้ก็คือตัวเลขการผลิตจากโรงงานทั้งหลายใน ไต้หวัน, ไทย และ มาเลเซีย เริ่มต้นติดลบแล้ว

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ก็เริ่มหมดแรงเหวี่ยง อัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ลดลงเหลือเพียงแค่ครึ่้งเดียวของไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเกิดภาวะชะงักงันทั้งในอิตาลีที่มีปัญหาหนี้มหาศาลและในเยอรมนีซึ่งการผลิตอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด

บลูมเบิร์ก ชี้ให้เห็นประเด็นน่าสนใจที่ว่า การเติบโตแบบชะลอลงที่ว่านั้นเกิดขึ้นในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มถีบตัวสูงขึ้น สร้างสถานการณ์ยุ่งยากซับซ้อนให้กับผู้กำหนดนโยบายอย่าง ธนาคารกลางแห่งยุโรป ที่ประกาศจะค่อยๆ ปรับลดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง

Advertisement

ไอเอชเอส มาร์คิท ซึ่งจัดทำดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ “ดัชนีพีเอ็มไอ” สำหรับเศรษฐกิจโลก ที่สำรวจข้อมูลการจัดซื้อ การจ้างงานและการผลิตใน 30 ประเทศทั่วโลกประจำเดือนตุลาคม พบว่า ร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี สาเหตุสำคัญมาจากภาวะตกต่ำในจีนและในพื้นที่ยูโรโซนเป็นหลักที่ดึงให้ดัชนีรวมลดลงมากถึงขนาดนั้น

แต่สงครามการค้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจีนเพียงด้านเดียว สภาวะตลาดในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลสะเทือนจากมาตรการทางการค้าที่เลือกใช้กับจีนแล้วเช่นเดียวกัน

สภาพแกว่งๆ ทางเศรษฐกิจสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคมทรุดตัวลงหนักหนาสาหัสไม่น้อย ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเทขายลามออกไปทั่วโลก เม็ดเงินหายไปเดือนเดียวมากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งระบุว่าสภาพการปรับตัวของตลาดหุ้นดังกล่าวนั้น “มีนัยสำคัญเพียงพอ” ต่อการส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

บริษัทวิจัย “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์” เตือนเอาไว้หลังเหตุการณ์ดังกล่าวว่า หากตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอีกเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้าง ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยเฉลี่ยของชาติพัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยลดลงทั้งในปี 2019 และ ปี 2020

เมื่อมองจำเพาะเจาะจงไปที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็คาดการณ์กันแล้วว่าจะชะลอการขยายตัวลงเช่นเดียวกัน โดยประเมินกันว่าในไตรมาสที่ 4 ไตรมาสสุดท้ายของปี จีดีพีสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวเพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์ ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 3 และ 4.2 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 2

ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลก มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะไม่ร้อนแรงเท่ากับเมื่อตอนที่มีการประกาศใช้มาตรการลดภาษีครั้งใหญ่ก็ตามที

ซึ่งส่งผลข้างเคียงให้ กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) ยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตนต่อไปในระดับความเร็วเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ 2.13 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้ยังไล่ตามอัตราเงินเฟ้อในประเทศไม่ทันด้วยซ้ำไป

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นปัจจัยซ้ำเติมบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลายทั่วโลกมากขึ้น ทั้งจากปัญหาเงินทุนไหลออกและปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

ทอม ออร์ลิค หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ ประจำสำนักวิจัย “บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์” แนะให้จับตา 3 ปัจจัยสำคัญตั้งแต่ตอนปลายปีนี้เรื่อยไปจนถึงต้นปีหน้า

แรกสุดคือ สงครามการค้าจะลากยาวต่อเนื่องต่อไปหรือไม่ และขนาดของมันจะลุกลามใหญ่โตออกไปอีกหรือไม่

ถัดมาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือบริษัทธุรกิจภายในประเทศในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน

สุดท้ายก็คือ เฟด มีวี่แววที่ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาให้ช้าลงกว่าอัตราที่เป็นอยู่ในเวลานี้หรือไม่

 ถ้าไม่…ก็เริ่มต้นเป็นกังวลกันได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image