ข้อขัดข้องทางเทคนิค กว่าจะถึง 24 ก.พ.62

เข้าใจว่านับจากนี้ข้อวิตกเล็กๆเรื่องวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ น่าจะหมดไปแล้ว
เพราะถึงขนาดให้เด็กม.6 ร่นสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และทดสอบความถนัดทางวิชาการ-วิชาชีพ (PAT) เร็วขึ้น ไม่ให้ชนวันหย่อนบัตร
หากวันเลือกตั้งผิดไปจาก 24 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นทีจะมี “เสียคน”
แต่สิ่งที่น่าสนใจหลังความชัดเจน คือกระบวนการต่างๆจนกว่าไปถึงวันนั้น
เริ่มจากบังคับใช้อย่างเป็นทางการของพรป.เลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลในราววันที่ 11 ธันวาคมนี้
เพื่อนำไปสู่การร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และผ่านขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
นายกฯประยุทธ์ย้ำชัด “ปลดล็อก”การเมือง จะเกิดขึ้นหลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ ซึ่งยังกำหนดเวลาไม่ได้

หากประเมินคร่าวๆว่า อยู่ในช่วงกลางถึงปลายเดือนธันวาคม พรรคการเมืองก็จะสามารถเดินหน้ารณรงค์หาเสียงได้
จนถึง 23 กุมภาพันธ์ เท่ากับมีเวลาไม่น่าจะถึงสองเดือน
พรรคการเมืองพร้อมหรือไม่ สู่สนามเลือกตั้ง เป็นเรื่องต้องไปดิ้นรนขวนขวายกันเอง
ภาระหนักอีกด้าน ยังไปตกกับ กกต. ที่ภายหลังพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผล ต้องไปจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง
บัตรเลือกตั้งรอบนี้มีรูปแบบแตกต่างออกไป คือใช้เพียงใบเดียวสำหรับเลือกคนไปเป็นส.ส. และเลือกพรรคนำไปคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ
“สมชัย ศรีสุทธิยากร”อดีต กกต. เคยชี้เป้าปัญหาจะสร้างความวุ่นวายเอาเรื่องเหมือนกัน จากองค์ประกอบที่ต้องมี

หนึ่ง หมายเลขผู้สมัคร
หนึ่ง สัญลักษณ์ และชื่อพรรค
ขณะที่พรป.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้หมายเลขผู้สมัครแตกต่างกันไปในแต่ละเขต
หมายถึงบัตรเลือกตั้งต้องมี 350 รูปแบบตามจำนวนเขตเลือกตั้ง
คุณสมชัยตั้งข้อสังเกตว่า การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ กกต.ไม่สามารถจัดพิมพ์ที่ส่วนกลางได้ทั้งหมดจากข้อจำกัดด้านเวลา(กว่าจะจัดพิมพ์ต้องรอกฤษฎีกาเลือกตั้ง หลังจากนั้นจึงจัดพิธีจับหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง)
ดังนั้นจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดไปจัดพิมพ์ ตามรูปแบบที่ กกต.กำหนด มีคุณสมบัติสำคัญต้องสามารถป้องกันการทุจริต ป้องกันการปลอมแปลง
มีคำถามว่า ทั้งระยะเวลาที่จำกัดต้องผ่านขั้นตอนคัดเลือกโรงพิมพ์ จนถึงอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง คงฉุกละหุกพอสมควร
และสำคัญยิ่งกว่า ศักยภาพ มาตรฐาน โรงพิมพ์ในระดับจังหวัด มีเพียงพอ ระบบพิมพ์ป้องกันกการทุจริตได้จริงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image