‘ฐากร’ แง้มเปิดประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ มี.ค-เม.ย.62 จ่อปรับหลักเกณฑ์-ลดราคา ดึงเอกชนลงทุน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. คาดว่า การประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2562 โดยจะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์, 3400-3500 เมกะเฮิรตซ์, 26-28 กิกะเฮิรตซ์ มาประมูล ทั้งนี้ สิ่งที่ กสทช.ยังเป็นห่วงต่อการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G โดยเอกชนจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน และลงทุน แต่หากเอกชนไม่มีเงินลงทุน 5G จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

“ก่อนการประมูลจะเกิดขึ้น กสทช. จะทบทวนหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ รวมถึงมูลค่าคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยอาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จะมีการขยายเวลาออกไป รวมถึงการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อใช้งานเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการประมูลคลื่นความถี่จากเดิมผู้ประมูล คือ ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นเจ้าของกิจการ โรงงาน หรือภาคอุตสาหกรรม เป็นผู้ประมูลคลื่นความถี่ เพื่อนำไปใช้ในกิจการ” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมวันนี้ (7 พฤศจิกายน 2561) ได้มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการ กสทช.ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 โดยหลังจากบอร์ดเห็นชอบแล้ว จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

Advertisement

สำหรับกระบวนการในการเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช. จะจัดทำบทวิเคราะห์ถึงผลกระทบ และประโยชน์ที่จะได้จากการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้บอร์ด กสทช.พิจารณา โดยเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว จะมอบหมายให้องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ตามที่ กสทช. กำหนดไว้ในระเบียบทำการศึกษา เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ที่เหมาะสม เพื่อเสนอต่อคณะทำงานในการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, สำนักงบประมาณ, สำนักงานอัยการสูงสุด, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดอัตราค่าเยียวยาเมื่อต้องเรียกคืนคลื่นความถี่ ก่อนจะเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของคลื่นความถี่ เพื่อขอทราบความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image