โวยค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง ร้องพณ.คุมเป็นบัญชีควบคุม

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องค่ายาและรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง ว่า กรมฯ ได้หารือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มาตลอดเพื่อพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล และนัดหารืออีกครั้งในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้   ซึ่งได้เสนอให้มีการแสดงราคาค่ายา ค่ารักษาพยาบาลให้มีความโปร่งใส แข่งขันกันในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น และให้ประชาชนเป็นผู้เลือก โดยให้ประชาชนรู้และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะราคาได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อลดความสงสัยและโต้แย้ง

นายประโยชน์  กล่าวว่า กรมฯ ได้ออกไปตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 62 แห่ง ช่วงวันที่ 1-5 ตุลาคมที่ผ่านมา ไปดูว่าติดราคากันตรงไหน แบบไหน พบว่า บางโรงพยาบาลทำเป็นเอกสารให้เปิดดู บางโรงพยาบาลใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ บางโรงพยาบาลใส่ในเว็บไซต์ จึงเห็นว่าควรจะมีมาตรฐานการปิดป้ายแสดงราคาที่เหมือนๆ กัน เพราะปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลมีเว็บไซต์ของตัวเองอยู่แล้ว ก็ควรจะเอาขึ้นเว็บไซต์ เอาใส่ไว้ให้คนเข้ามาดูได้ เปรียบเทียบได้ เพราะถ้ารู้ราคาก่อน ก็จะใช้ประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลไหน

สำหรับรายละเอียดที่จะต้องเอาไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ จะต้องมีรายการค่ายา ที่จำเป็น ที่คนต้องใช้ เพราะมีสถิติประกอบอยู่แล้วว่าปัจจุบันคนใช้ยาอะไรมาก หรือค่ารักษาพยาบาล ค่าผ่าตัด ก็ต้องใส่ไว้ โดยยึดตามหลักสถิติการใช้บริการเช่นเดียวกัน และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแล้ว ก็จะเชิญโรงพยาบาลเอกชนมาหรือ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

นายประโยชน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้นำค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม ภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 นั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบก่อน หากเห็นด้วย ก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณากำหนดเป็นสินค้าและบริการควบคุม และจะมีมาตรการกำกับดูแลได้ต่อไป เหมือนกับสินค้าควบคุมอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำตาลทราย เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ การดูแลเรื่องค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้มีการปิดป้ายแสดงราคาไว้ในที่เปิดเผยและชัดเจน หรือให้จัดทำเป็นเอกสารหรือเว็บไซต์ของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบอัตราค่ายาและค่าบริการก่อนการตัดสินใจใช้บริการ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดให้การประกอบกิจการสถานพยาบาลและการดำเนินการสถานพยาบาล มาตรา 32 (3) ผู้รับอนุญาตต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลต้องแสดงตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดโทษ มาตรา 59 ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีการประมาณการอัตราค่าบริการเบื้องต้น แจ้งให้ผู้รับการรักษาทราบก่อน ส่วนการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ได้มีคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง และคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image