ส่งออกดี ดึงความสามารถแข่งขันเอสเอ็มอี ทิศทางเป็นบวกต่อไตรมาส 4

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ไตรมาส 3/2561 ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พบว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 48.6 เพิ่มขึ้น 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส2/2561 โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3/2560

ปัจจัยทำให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ การส่งออกของไทยมีอัตราการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก บรรจุภัณฑ์ และ ปิโตรเคมี คาดว่าไตรมาส 4/2561 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.8 ผลจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีสัญญาณคลายตัวมากขึ้น ราคาพืชเกษตรดีขึ้น สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีน แต่มุมมองในภาพรวมยังทรงตัว เพราะยังต้องติดตามเรื่องสงครามสหรัฐและจีน กระทบต่อเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์  กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. พบว่า สถานการณ์ธุรกิจมีการปรับตัวลดลงเกือบทุกหัวข้อของการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่อง สต๊อกวัตถุดิบ หนี้สินรวม กำไรสุทธิ กำไรสะสม โดยกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ ลดลง 0.7 จาก 43.0 มาอยู่ที่ 42.3 สวนทางกับกลุ่มลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯเพิ่มขึ้น 0.8 จาก 54.6 มาอยู่ที่ 55.4

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส3/2561 อยู่ที่ 43.2 ลดลง 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าไตรมาส 4/2561 ลดลงอยู่ที่ 42.3 โดยหากเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในกลุ่มที่เป็นลูกค้าและกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว.พบว่า ในกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจลดลง 0.9 จากระดับ 38.8 มาอยู่ที่ 37.9 สวนทางกับกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.5 จากระดับ 48.3 มาอยู่ที่ 48.8 โดยดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2561 อยู่ที่ 50.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

Advertisement

โดยข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. พบข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีลดลง 1.1 จุด จากระดับ 44.3 มาอยู่ที่ 43.2 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. เพิ่มขึ้น 1.1 จุด จากระดับ 56.8 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.9 โดยคาดการณ์ในไตรมาส 4/2561 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.5

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับ ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2561 อยู่ที่ระดับ 53.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ไตรมาสที่ 4/2561 จะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 52.6 โดยกลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธพว. ปรับตัวลดลง 0.3 จากระดับ 46.0 มาอยู่ที่ระดับ 45.7 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ปรับขึ้นขึ้น 0.7 จุด จากระดับ 58.7 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.4

“ธุรกิจเอสเอ็มอี ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นปกติ แม้ว่าไตรมาส 3 ประชาชน จะเริ่มมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตจะทรงตัวต่อเนื่องในอนาคต เพราะผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงมากมาย รวมถึงการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจนชนเพดานราคาที่รัฐกำหนดไว้ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่การที่นักท่องเที่ยวจีนหายไป ทำให้รายได้หายไป ตัวเลขต่างๆ ลดลง แต่คาดว่าสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะคลายตัวลง เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มมีมุมมองในแง่บวกต่อจีนมากขึ้น ประกอบการกับผู้นำจีนก็เริ่มที่จะมีการพูดคุยกับผู้นำสหรัฐฯ มากขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่คาดว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้” นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image