คำตอบอยู่ที่นี่ คอลัมน์แท็งก์ความคิด โดย นฤตย์ เสกธีระ

ระยะหลังข่าวคราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมีมากขึ้น

ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าทำให้รัฐบาลหันมาใส่ใจเรื่องปริมาณแมวหมา

ปัญหาขยะมูลฝอยมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนให้หน่วยงานระดับกระทรวงไปรับผิดชอบ

ปัญหาการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกำลังบานปลายไปเป็นความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

เหลื่อมล้ำระหว่าง รวย-จน เหลื่อมล้ำระหว่าง มีอำนาจ-ไร้อำนาจ

ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องหาวิธีคลี่คลาย

แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะคลี่คลายได้ยากลำบาก บ้างก็ขาดกำลังคน บ้างก็ขาดงบประมาณ

Advertisement

รวมไปถึงการขาดการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง

แต่เชื่อไหมว่า ปัญหาดังกล่าวท้องถิ่นบางแห่งเขา “เอาอยู่”

ยกตัวอย่างปัญหาขยะที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง

ที่นั่นใช้กลไกเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะล้น

จากปี 2542 ที่ปริมาณขยะมีมากถึงเดือนละ 144 ตัน ปัจจุบันปริมาณขยะลดลงเหลือเดือนละ 48 ตัน

หายไปไหนเกือบ 100 ตัน

คำตอบอยู่ที่วิธีการจัดการที่เริ่มต้นคัดแยกขยะจากครัวเรือน

แบ่งเป็นขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป

ขยะอินทรีย์นำไปทำน้ำหมัก ทำปุ๋ยธรรมชาติ แล้วเอาปุ๋ยธรรมชาติไปบำรุงแปลงผัก และเอาผักไปกิน

ขยะอันตรายส่ง อบต.เพื่อมอบให้ อบจ.ลำปาง ไปทำลายตามหลักกำจัดวัตถุอันตราย

ขยะรีไซเคิล ครัวเรือนส่งขายให้ผู้ประกอบธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิล

ขยะทั่วไป ส่วนหนึ่งนำไปให้โรงเรียนผู้สูงอายุใช้ผลิตสินค้าเอาไปขายสร้างรายได้ ส่วนหนึ่งนำไปอัดแล้วขายให้เอสซีจี

อีกส่วนหนึ่งทิ้งใส่ถังขยะ แล้ว อบต.นำไปฝังกลบ

เมื่อขยะทำให้ครัวเรือนมีรายได้ ชาวบ้านก็ทิ้งขว้างน้อยลง

ขยะในพื้นที่จึงลดลงเรื่อยๆ

ความสำเร็จของ อบต.ร่องเคาะ ได้เผยแพร่ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง

ขณะเดียวกัน อบต.ร่องเคาะก็ไปรับเอา “นวัตกรรม” จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงมาเสริมงานในพื้นที่

กลายเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน

ตัวอย่างที่ยกมานี่มีแค่ อบต.เดียว

เรื่องลดปริมาณขยะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งทำสำเร็จ

แล้วถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสามารถทำได้ล่ะ

ขยะก็อาจจะไม่ได้กลายเป็นเรื่องปวดหัวอีกต่อไป

ส่วนปัญหาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มีตัวอย่างการจัดการที่เทศบาลตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ที่นั่นมีปัญหาเงินน้อย แต่มีผู้ด้อยโอกาสที่รอการช่วยเหลือมาก

ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งเป็นคณะกรรมการร่วม

คณะกรรมการชุดนี้แสวงหาแหล่งทุนมาได้ 10 แห่ง แต่ละแหล่งก็มาจากรัฐบาลนั่นแหละ

เพียงแต่การคัดเลือกผู้ด้อยโอกาสเขาดึงชาวบ้านเข้ามา

กำนันผู้ใหญ่บ้านซาวด์เสียงชาวบ้านว่าใครคือคนด้อยโอกาส

คณะกรรมการร่วมคัดเลือกผู้ที่สมควรได้ทุน

เมื่อได้รับเงินเป็นทุน ชาวบ้านก็ไปลงแรงช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ด้อยโอกาส

วิธีการเช่นนี้ช่วยทำให้ได้ตัวคนที่ “ด้อยโอกาส” จริงๆ และยังสามารถมีข้อมูลผู้ด้อยโอกาสครบถ้วนได้อีกด้วย

หากรัฐบาลไว้ใจท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ทำงานที่รัฐบาลลงมือทำยาก

อาทิ ตีทะเบียนหมาแมว ลดปริมาณขยะ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทำทะเบียนคนจน ฯลฯ

บางทีปัญหาที่รัฐบาลทำไม่ได้ ท้องถิ่นเขาทำได้ เพราะเขาอยู่กับข้อมูล

ขณะที่รัฐบาลมีทุน มีความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญ

ถ้าประสานงานกันเหมือนดั่งที่รัฐบาลชูนโยบาย “ประชารัฐ” ได้จริง

หลายเรื่องหลายราวน่าจะประสบผลสำเร็จ

ถ้ายังไม่มั่นใจว่าชาวบ้านทำได้ไหม ลองไปขอข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า

ลองไปสอบถามคณะกรรมการที่ลงไปประเมินท้องถิ่นเรื่อยๆ

ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้จัดงานที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

วันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวัดสุดท้าย มีพิธีมอบโล่รางวัลพระปกเกล้า และเกียรติบัตร

รางวัลนี้มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมดีเด่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้แหละที่เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้น และหาวิธีแก้ไขได้สำเร็จ

หากเป็นไปได้ ลองให้ใครก็ได้ลงพื้นที่ไปดูความสำเร็จของท้องถิ่นแต่ละแห่ง

ลงไปดู ลงไปถามชาวบ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นเหล่านั้น

ถามว่าเขามีปัญหาอะไร เขาแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร

รับรองว่าจะได้ทั้งคำตอบและทางออกของหลายๆ ปัญหาที่เกี่ยวกับชุมชนและชาวบ้าน

เป็นคำตอบและทางออกที่หลายคนมองว่าง่าย แต่ว่ากว่าจะสำเร็จได้นั้นยาก

เพราะเคล็ดลับของความสำเร็จอยู่ที่ชาวบ้าน

อยู่ที่การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการแก้ไขปัญหา

การมีส่วนร่วมดังกล่าวยังสะท้อนภาพความยั่งยืนในการแก้ปัญหาได้อีกด้วย

หากที่ใดชาวบ้านมีส่วนร่วมน้อย การแก้ไขปัญหานั้นยั่งยืนน้อย

ถ้าที่ใดชาวบ้านมีส่วนร่วมมาก ปัญหานั้นก็จะถูกคลี่คลายได้ยั่งยืนนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image