นักวิชาการอิสระชี้ไม่ถูก! แนะผู้ป่วยฟ้องศาลร้องสิทธิบัตรกัญชา เอาผิดกรมทรัพย์สินฯ

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการอิสระ และนักวิจัยด้านสิทธิบัตร Evergreening กล่าวถึงกรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญารับยื่นจดสิทธิบัตรกัญชาจากต่างชาติ ทั้งที่เป็นสารธรรมชาติในกัญชา และเป็นข้อห้ามของพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ซึ่งเครือข่ายนักวิชาการ และองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ออกมาท้วงติง ว่า แม้ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยังไม่ให้สิทธิบัตรกัญชา แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่ยื่นขอได้รับสิทธิความคุ้มครองไปแล้วตั้งแต่วันที่ยื่นจด และยังมีช่องว่างใหญ่อีก 5 ปีในการให้เวลาตรวจสอบว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือไม่ ตรงนี้เท่ากับตัดทางให้ผู้วิจัยหรือผลิตสารสกัดจากกัญชารายอื่นไม่กล้าที่จะดำเนินการ เพราะจะถูกบริษัทที่ยื่นสิทธิบัตรส่งหนังสือเตือนหรือ Notice มา และหากได้สิทธิบัตรจริงก็จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับจากวันที่ยื่น Notice ซึ่งอาจเป็นหลักสิบหรือร้อยล้านบาท ทำให้เอกชนไม่มีใครกล้าผลิตออกมา เพราะไม่อยากเสี่ยงด้านกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมายาชื่อสามัญถึงไม่ออกมาแข่งกับยาต้นแบบ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลการยื่นสิทธิบัตรยาส่วนใหญ่ จะเป็นแบบไม่มีสูตรใหม่หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ (Evergreening) ถึงร้อยละ 81 และส่วนใหญ่มักจะหมดอายุ 5 ปีไปเอง เพราะทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้มีการตรวจสอบ เท่ากับบริษัทที่ยื่นขอสิทธิบัตรได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ถึง 5 ปี

ภญ.อัจฉรา กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องการยื่นสิทธิบัตรกัญชาผ่านเรื่องการประกาศโฆษณาไปแล้ว ทางออกในขณะนี้ จึงต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ คือ ผู้ผลิตเช่นเดียวกัน เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่กำลังวิจัยและทำสารสกัดอยู่ รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาจริง เพราะมีคดีเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วที่ตัดสินว่า ผู้ป่วยสามารถเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ ต้องยื่นฟ้องต่อศาลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิกถอนคำร้องสิทธิบัตร เพราะการยื่นสิทธิบัตรกัญชาในครั้งนี้ขัดต่อม. 9 คือ ยื่นจดสารธรรมชาติจากพืช และจดเป็นวิธีการรักษา หรือกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องดำเนินการเร็วขึ้นในการตรวจสอบว่าไม่มีสูตรหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แล้วยกเลิกคำร้อง แต่ก็ยังมีระยะเวลาอีกถึง 5 ปี ซึ่งประเด็นนี้จะต้องแก้ในทางกฎหมาย

“เท่าที่ทราบมีการร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. … ซึ่งทราบว่ามีการลดช่องว่างในการตรวจสอบว่าเป็น Evergreening หรือไม่ ให้เหลือเพียง 2-3 ปี ซึ่งก็เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม หลายประเทศก็ให้เวลาประมาณ 2 ปี เพราะต้องให้โอกาสผู้ผลิตที่ดีในการตรวจสอบด้วย แต่จากปัญหาทั้งหมด กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรมีการปรับปรุงระบบการทำงาน โดยจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนประกาศโฆษณาว่า ขัดต่อม. 9 หรือไม่ และต้องลดช่องว่างในการตรวจสอบ Evergreening ให้สั้นที่สุด” ภญ.อัจฉรา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image